ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 12/5/08 at 16:54 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 25)


(Update 7 ต.ค. 51)


« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »

ตอนที่ 25

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 13




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 13 รอยยิ้มแห่งนครวัด

ออกอากาศเมื่อ : 2008-07-28



เป็นอันว่าเรื่องราวของ “พญานาค” นอกจากจะเป็นที่นับถือของชาวไทยและชาวศรีลังกาแล้ว ในประเทศพม่าที่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นกัน ยังมีเรื่องเล่าจาก “พงศาวดารมอญ” ที่กล่าวถึงประวัติการสร้าง “พระเจดีย์ชเวดากอง” ไว้ว่า

"....... ในคราวที่ ท่านตปุสสะ และ ภัลลิกะ พ่อค้าชาวมอญสองพี่น้องได้เดินทางไปค้าขาย แล้วได้ถวายข้าวสัตตุผลแด่พระพุทธเจ้า จนเข้าถึงสรณคมน์เป็นอุบาสกคนแรกในโลก ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศา ๘ เส้น แล้วตรัสสั่งให้นำมาบรรจุไว้ที่ ดอยสิงฆุตตระ (ชเวดากอง) แต่ในระหว่างที่เดินทางกลับมาด้วยเรือสำเภานั้น พญาชัยเสนนาคราช ที่อาศัยอยู่ในท้องมหาสมุทรได้เห็นรัศมีบนเรือ จึงแอบขโมยพระเกศาธาตุไป ๒ เส้น หลังจากนั้นพ่อค้าทั้งสองคนก็อัญเชิญพระเกศาธาตุไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์ชเวดากอง ต่อมาพระเกศาธาตุก็ได้ถูกบรรจุไว้ใน พระเจดีย์มอดินซูน (ปัจจุบันอยู่ที่แหลมเนเกรย์)

เรื่องพญานาคในท้องทะเลก็ยังมีเรื่องเล่าในบ้านเราอีกเช่นกัน ตามที่เคยเล่าเรื่อง “พญานาค” ทางภาคเหนือกันแล้ว ลงมาทางภาคใต้ก็มีเหมือนกัน นอกจาก “พญานัมทานาคราช” ทูลขอรอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งน้ำนัมทานที (เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่ริเริ่มในการถือศีลกินเจ มีการเข้าทรงกันมากมาย ทราบข่าวว่าทุกครั้ง “ม้าทรง” จะต้องไปที่แหลมพรหมเทพก่อน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเกาะแก้วพิสดารนั่นเอง) ยังมีในประวัติ “วัดมหาธาตุฯ” นครศรีธรรมราช อีกว่า

ในตอนที่ พระนางเหมชาลา และพระราชบุตรชื่อ ทันตกุมาร อัญเชิญ พระเขี้ยวแก้ว ไปลังกา ขณะที่โดยสารมากับเรือสำเภา เรือออกแล่นไปถึงกลางมหาสมุทร ก็เกิดอัศจรรย์เรือหยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไป นายสำเภาจึงประชุมลูกน้องว่าเรือหยุดอยู่กับที่โดยหาสาเหตุไม่ได้เช่นนี้ คงจะเป็นเพราะสองพี่น้องโดยสารเรือมาเป็นแน่ ต้องจับฆ่าโยนลงทะเลเสีย ด้วยเหตุนี้ เจ้าฟ้าจึงระลึกถึง พระมหาเถระพรหมเทพ ให้มาช่วย ตามที่พระเถระเคยบอกไว้ก่อนว่า หากมีภัยอะไรก็ขอให้นึกถึง ท่านจะมาช่วยเหลือทันที

ทันใดนั้นพญาครุฑใหญ่ปีกกว้างประมาณ ๓๐๐ วา ได้บินมาที่เรือ เหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นก็หายไป พญาครุฑก็กลายร่างเป็นพระเถระฯ แล้วชี้แจงให้ลูกเรือทราบว่าเรือหยุดเป็นเพราะ พญานาคราชและบริวาร ขึ้นมานมัสการพระทันตธาตุจึงเกิดอัศจรรย์ พระมหาเถระชี้แจงแล้วก็กลับไป เรือสำเภาก็แล่นต่อไปยังเมืองลังกาได้ สองเจ้าฟ้าจึงขึ้นเฝ้าพระเจ้ากิตติสิริเมฆวัน กษัตริย์กรุงลังกา แล้วเล่าเรื่องราวต่าง ๆ พร้อมทั้งถวายพระทันตธาตุ พระเจ้ากรุงลังกาปิติโสมนัสยิ่งนัก จึงสร้างพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุไว้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนสืบไป

นครกาละจำบากนาคบูรีสี

รวมความว่า ผู้เขียนได้ลำดับความเป็นมาของ “พญานาค” ตั้งแต่เมืองไทยไปจนถึงลาว พม่า ศรีลังกา ต่อไปนี้จะไปที่ กัมพูชา กันบ้าง เพราะประจวบเหมาะกับ “สารคดีแม่น้ำโขง” ได้ลำดับมาถึงตอน “นครวัด” พอดี ในตอนนี้ พลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล เล่าว่าดินแดนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศลาว ตำนานกล่าวว่าเป็นบ้านเมืองของพราหมณ์ชื่อว่า กัมพูชา ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดา “พญานาค” แห่งทะเลใต้พระนามว่า พระนางอัปสรเมรา สืบราชวงศ์ลงมาถึงสมัย พระเจ้าภววรมัน และ เจ้าชายจิตรเสน

พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถังระบุว่า กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง “เจนละก๊ก” ได้ยกกองทัพไปโจมตีเมืองหลวงของฟูนันแตก เมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จึงสถาปนาราชอาณาจักรของตนเป็นอิสระมีชื่อว่า “อาณาจักรกัมพูชา” หรือประเทศเขมร โดยนำพระนามของบรรพบุรุษของ “พราหมณ์กัมพู” และ “พระนางเมรา” มาผสมผสานกันเป็นนามบ้านเมืองของตน โดยยกย่องฝ่ายพระราชมารดาซึ่งเป็นธิดาพญานาคขึ้นเป็นใหญ่เรียกว่า “จันทรวงศ์” จีนจึงเรียกชื่อประเทศเขมรว่า “เจนละก๊ก”

พงศาวดารเขมร ตอนสร้างนครวัดนครธม

".......เมื่อครั้งปฐมกัลป์ ประเทศที่นี้ยังเป็นมหาสมุทรอยู่ พระยานาคชื่อว่า ท้าวชมภูปาปะกาศ ไปรับอาษาพระอิศวร เอาขนดตัวพันเข้ากับพระเมรุ์ มิให้เอนเอียงได้ ฝ่ายพระพายขัดใจจึ่งพัดให้เขาพระเมรุ์เอนเอียงไปได้ พระพายเอาพระขรรค์ตัดศีรษะพระยานาคขว้างมาตกลงที่นั้น พระอิศวรทรงพระเมตตานัก จึ่งเอายาทิ้งลงมาสาปสรรว่า ถ้าศีรษะท้าวชมภู ปาปะกาศตกลงมาที่ใด ก็ให้เกิดเป็นโคกและต้นไม้อยู่ในที่นั้น จึงเกิดเป็นโคกมีต้นทลอกใหญ่ต้นหนึ่ง จึ่งได้เรียกว่า โคกทลอก

ฝ่ายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เห็นต้นทลอกเอนอยู่ดังนั้น ก็ให้มหาดเล็กเอาพระยี่ภู่ไปลาดบนต้นทลอกนั้น แล้วเสด็จขึ้นไปบรรทม พอเวลาเย็นต้นทลอกนั้นก็ค่อยตรงขึ้นทีละน้อยๆ พระเจ้าสุริยวงศ์บรรทมหลับ ต้นทลอก ก็ตั้งตรงขึ้นดุจมีผู้ยกขึ้น พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึ่งตื่นจากพระบรรทม ให้หวาดหวั่นพระหฤทัย จึ่งเหนี่ยวกิ่งทลอกไว้ จะเลื่อนพระองค์ลงมา ก็ไม่ได้ เสด็จนั่งอยู่บนค่าคบจนต้นทลอกตรงขึ้นสูงสุด เป็นอัศจรรย์ในพระหฤทัยนัก จะเรียกมหาดเล็กข้าเฝ้าทั้งปวงก็ไม่ได้ยิน

ฝ่ายบรรดาไพร่พลเสนาข้าเฝ้าทั้งปวงก็ตกใจ คอยอยู่ใต้ต้นทลอกทั้งสิ้น พอเพลาพระอาทิตย์อุทัย ต้นทลอกนั้นจึ่งเอนลงราบถึงพระธรณีดังเก่า พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จึ่งลงจากต้นทลอกมายังบรรดาข้าเฝ้า ๆ ก็มีความยินดีนัก

ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้านางนาคผู้เป็นธิดาพระยานาค ชวนบริวารขึ้นมาเล่นน้ำในทะเลสาบ แล้วว่ายเข้ามาตามลำคลองจนถึงที่ใกล้ต้นทลอก พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เห็นนางนาค ก็พาพวกอำมาตย์ราชเสนาทั้งปวงเข้าล้อมจับ ๆ นางนาคได้แล้ว พามาไว้ที่ต้นทลอก ได้สมัครสังวาสแล้ว ตั้งเป็นพระอัครมเหษี

ขณะเมื่อพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์จับนางนาคได้นั้น ฝ่ายบริวารนางนาค ก็พากันหนีกลับไปเเจ้งความแก่พระยานาคผู้บิดา ๆ จึ่งให้หาพระราชบุตรซึ่งเป็นน้องนางนาค ให้เกณฑ์พวกพลนาคขึ้นมาตามพบกับพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ได้รบกัน แพ้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ๆ จับได้จะฆ่าเสีย นางนาคผู้เป็นอัครมเหษีจึ่งทูลขอชีวิตไว้แล้ว พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ปล่อยให้กลับคืนไปเมืองนาค นาคกุมารจึ่งแจ้งความแก่พระยานาคผู้เป็นพระบิดาทุกประการ

พระยานาคก็คิดว่า บุตรหญิงเราเขาก็จับได้ไปเลี้ยงเป็นภรรยา ครั้นให้บุตรชายไปติดตามได้ รบกันแพ้เขาๆ จับได้ก็ไม่ได้ฆ่าแล้วปล่อยมา คุณของเขามีแก่เรา เป็นอันมาก จึ่งจัดเครื่องราชบรรณาการ ให้บริวารนำขึ้นมาถวาย พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ให้เชิญพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับพระราชธิดาลงไปเมืองนาค พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับนางนาคผู้เป็นพระอัคร มเหษี ก็ลงไปอยู่เมืองนาคประมาณกึ่งเดือน

พระยานาคจึ่งตรัสแก่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ว่า ท่านเป็นมนุษย์จะมาอยู่ในเมืองนาคไม่สมควร จงกลับขึ้นไปเมืองมนุษย์ เห็นภูมิถานที่ใดควรจะสร้างพระนครได้ก็ให้ลงมาบอกข้าพเจ้า ๆ จะขึ้นไปช่วยสร้างให้ พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ลาพระยานาคพานางนาคขึ้นมาอยู่ที่ต้นทลอก แล้วพานางนาคไปเฝ้าพระเจ้าเกตุมาลา ผู้เป็นพระบิดาเลี้ยง ทูลเล่าเรื่องความถวายทุกประการ

พระเจ้าเกตุมาลามีพระหฤทัยยินดีนัก จึ่งให้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับอำมาตย์ราชเสนาไปเที่ยวดูที่ภูมิสถานสมควรจะสร้างพระนครได้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ก็เห็นว่า โคกที่ต้นทลอกตั้งอยู่นั้น ควรจะสร้างพระนครอันใหญ่ได้ แล้วพากันกราบทูลพระเจ้าเกตุมาลา ๆ จึงให้พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กับนางนาคลงไปทูลแก่พระยานาค ๆ ก็พาพวกพลนาคขึ้นมาสร้างพระนครอันใหญ่ถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์อยู่ให้ชื่อว่า นครธม

พระเจ้าเกตุมาลาก็ราชาภิเษกพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ขึ้นทรงราชย์อยู่ในนครธมอันใหญ่ ครั้นนานมาพระเจ้าเกตุมาลาก็ถึงแก่พิราลัย พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ถวายพระนครที่พระเจ้าเกตุมาลาผู้เป็นพระบิดาเลี้ยงเสด็จอยู่นั้นเป็นพระอาราม นิมนต์ให้พระพุทธโฆษาจารย์อยู่

เมื่อพระพุทธโฆษาจารย์กลับเข้ามาแต่ลังกาทวีป เพราะเหตุที่พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทรงพระราชอุทิศถวายเมืองโคกทลอกเป็นวัด จึ่งได้นามชื่อว่า พระนครวัด ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ก็ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่พระยานาคเป็นพระเจ้าพ่อตาทุกปี ครั้งนั้นแต่บรรดากษัตริย์ทุกพระนคร ต้องไปขึ้น แก่พระนครธมอันใหญ่ ด้วยบารมีของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ เมืองสุโขทัยไปส่งส่วยน้ำ เมืองตลุงส่งส่วยไหม เมืองละโว้ส่งส่วยปลาแห้ง

ส่วนพระยานาคผู้เป็นพระเจ้าพ่อตาถึงแก่พิราลัยแล้ว พระราชบุตรพระยานาคซึ่งเป็นน้องนางนาคนั้น ก็ได้ผ่านพิภพนาคแทนพระบิดา พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ได้ทรงราชย์มาช้านานแล้ว เป็นอันว่าพระนครวัดนครธมทั้งสองนี้ มีอยู่ในแว่นแคว้นแดนเขมร สร้างเมื่อครั้งพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๔๐๐ พรรษา และแว่นแคว้นแดน “เมืองโคกทลอก” นั้น จึ่งได้นามปรากฏชื่อว่า เมืองอินทปัตถมหานคร



ความเชื่อเรื่อง “นาค” กับตำนาน “พระทอง-นางนาค”

โดย..มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (กลุ่มละครมะขามป้อม)

เขมรเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีเรื่องตำนานเกี่ยวข้องกับ “นาค” อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะตำนานนางนาคกับพระทองที่มีความสำคัญมาก ถึงกับกล่าวว่าเป็นนิทานที่เล่าถึงบรรพบุรุษของตนทีเดียว “ตำนานพระทอง-นางนาค” ของเขมรน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของ “อาณาจักรจามปา” ที่พบในเวียดนาม

สรุปเนื้อความว่า พราหมณ์โกณฑัณยะผู้ได้รับหอกมาจาก “พราหมณ์อัศวัตถามัน” บุตรแห่งพราหมณ์โทรณะ ได้พุ่งหอกนั้นไปเพื่อสร้างราชธานี ต่อจากนั้นจึงได้สมรสกับธิดาพระยานาคผู้มีนามว่า “โสมา” และได้สืบเชื้อวงศ์ต่อมา

ตำนานพื้นบ้าน “พระทอง – นางนาค” เล่าว่า เมื่อพุทธศักราชผ่านไปได้ ๖๑๐ หรือ ๖๗๐ ปีนั้น “เกาะโคทลอก” มีแผ่นดินงอกกว้างใหญ่ไพศาล พระราชาจาม (กษัตริย์จามพระองค์นี้ ทรงพระนามอัศไชยราช ครองกรุงอินทปัตถบุรี) ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินนั้นอยู่ก่อน หลังจากนั้นได้มีพระราชาอีกองค์หนึ่งทรงพระนาม “พระทอง” ซึ่งเคยอยู่ที่เมืองมอญ พระองค์ต้องโทษทัณฑ์จึงต้องเสด็จด้วยเรือสำเภาลำหนึ่ง โดยเสด็จมาพร้อมไพร่พลบริวารและเข้ามาขอพระราชาจามอาศัย ณ เกาะนั้น

ในอดีตชาติ “พระทอง” ถือกำเนิดเป็นตะกวดอยู่ในโพรงต้นหมันซึ่งขึ้นอยู่ที่กลางเ “เกาะโคกทลอก” ครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ณ ใต้ต้นหมันนั้นเพื่อฉันจังหัน ตะกวดเห็นจึงออกมาก้มหัวคำนับ ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงปั้นก้อนข้าวโยนไปให้ เมื่อตะกวดกินข้าวอิ่มก็แลบลิ้นเลียทำให้ปลายลิ้นแยกเป็น ๒ แฉก พระพุทธองค์จึงทรงทำนายโดยบอกแก่พระอานนท์ว่า

”ต่อไปในภายหน้า เกาะโคกทลอกนี้จะเกิดเป็นนครใหญ่ พรั่งพร้อมด้วยอำนาจ ส่วนตะกวดที่ออกมาก้มคำนับตถาคตนี้จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ และจะได้เสวยราชย์ในนครเป็นพระราชาพระองค์แรกของแผ่นดินนี้ แต่ผู้คนในนครไม่ค่อยมีความสัตย์เพราะผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นสัตว์มีลิ้น ๒ แฉก เมื่อตะกวดตายไปจึงมาเกิดเป็นพระทองที่มาขออาศัยแผ่นดินพระราชาจามอยู่ในเวลานี้”

เมื่ออยู่นานไป พระทองเกิดขัดแย้งกับพระราชาจามในเรื่องแย่งดินแดน ทั้งคู่โต้เถียงกันไม่หยุดจนเลิกนับถือกัน พระทองด้วยเหตุที่จะได้เป็นใหญ่แห่งเกาะนั้นและเพราะได้นมัสการพระพุทธองค์มานับแต่อดีตชาติ จึงเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อเวลาดึกสงัดได้ทรงพาอำมาตย์ซึ่งเป็นที่ไว้พระทัย นำเอาทองก้อนหนึ่งที่ปลอมจารึกพงศาวดารไปฝังดินไว้ที่โคนต้นหมัน ในจารึกมีความว่า ‘ได้มาหักร้างถางป่าบนดินแดนที่เป็นเกาะนี้ตั้งแต่เพิ่งมีขึ้น และได้ฝังทองก้อนเท่าผลมะขวิดไว้ที่โคนต้นหมันลึก ๓ ศอก ไว้เป็นหลักฐาน ผืนแผ่นดินนี้ต้องให้พระทองผู้เป็นหลาน’

จากนั้นพระทองจึงสั่งให้ทหารไปไล่พระราชาจามออกไปจากดินแดนนั้นโดยอ้างถึงจารึกที่ตนปลอมขึ้น ถึงแม้พระราชาจามจะไม่เชื่อ คิดจะยกกองทัพมาโจมตี แต่ฝ่ายพระทองด้วยคาดการณ์ไว้จึงชิงโจมตีก่อนและจับพระราชาจามกับไพร่พลได้ พระราชาจามทรงอ้อนวอนขอชีวิตโดยยินยอมที่จะถวายแผ่นดินและไพร่พลให้ พระราชาจามด้วยความคับแค้นใจถึงกับกระอักโลหิตสิ้นพระชนม์

หลังจากนั้นพระทองเกิดกลัดกลุ้มพระทัย จึงทรงชักชวนไพร่พลบริวารออกเที่ยวตามเนินทรายที่เพิ่งงอกขึ้นใหม่ เมื่อเสด็จออกเป็นเวลาน้ำลดจึงทรงท่องเที่ยวไปได้ แต่เมื่อน้ำขึ้นพระองค์จึงทรงหาที่บรรทมเพื่อรอเวลาน้ำลดจะได้กลับพระนคร ครั้นเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้าพระจันทร์ก็ขึ้นเต็มดวงทอแสงกระจ่างนภา

ฝ่ายนางทาวดี ซึ่งเป็นธิดาพญานาคราชนครบาดาล เกิดความร้อนรุ่มอยู่ในปราสาทไม่ได้ เข้าไปกราบขออนุญาตพระบิดาจะพาไพร่บริวารหญิงแทรกแผ่นดินขึ้นเที่ยวเล่นยังโลกมนุษย์ นางทาวดีและบริวารพากันกลิ้งเกลือกเล่นน้ำตามประสานาคไปเรื่อยจนถึงเกาะใหญ่ริมทะเล อาจเป็นเพราะกุศลกรรมแต่ปางก่อนให้นางนาคเป็นคู่ครองพระทอง จึงบันดาลให้ไพร่พลของพระทองหลับไปจนหมดเหลือเพียงพระทองแต่ผู้เดียว พระทองได้ยินเสียงมนุษย์พูดกระซิบกระซาบจึงลุกขึ้นมอง ทรงเห็นเหล่าสตรีเรียงรายอยู่เป็นที่น่าอัศจรรย์ จึงทรงเสด็จเข้าไปใกล้และตรัสถามให้รู้เรื่องราวว่าเป็นใครและมาจากที่ใด

นางทาวดีจึงกราบทูลว่าตนเป็นพระธิดาพญานาค ฝ่ายพระทองที่ทรงมีพระทัยสเน่หานางทาวดีตั้งแต่แรกเห็นจึงเกี้ยวพาและขอให้เป็นอัครมเหสีใหญ่ นางทาวดีจึงกราบทูลว่าตนต้องลงไปกราบทูลขอจากพระราชบิดาเสียก่อน และถวายหมากคำหนึ่งไว้แทนใจแก่พระทองว่าจะไม่ผิดสัญญา จากนั้นนางจึงกลับไปยังเมืองนาค เมื่อพระราชบิดาทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดก็ยินยอมตามที่พระธิดาปรารถนา ทรงให้จัดไพร่พลบริวารพร้อมเครื่องบรรณาการแห่แหนพระธิดากลับมายังโลกมนุษย์ และทรงสั่งให้ไพร่พลนาคซึ่งมีฤทธิ์อำนาจสูบน้ำให้แห้งเกิดเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่ขึ้น และเนรมิตให้เป็นปราสาทราชวังพร้อมสรรพ

ฝ่ายพระทองก็เข้าไปถวายบังคมพระราชบิดามารดาของนางทาวดี พญานาคราชทรงสั่งให้พระทองเตรียมตัว จะจัดให้มีพระราชพิธีอภิเษกและจะให้เสวยราชสมบัติ และเมื่อเสร็จพระราชพิธี ณ ที่นี้แล้วจะต้องไปจัดที่เมืองของพระราชานาคอีกเพื่อให้เหล่านาคได้รู้จัก อีกทั้งจะถวายพระนครและพระนามของทั้งสองให้ใหม่อีกด้วย

พระทองได้ฟังดังนั้นก็กังวลพระทัยมากเพราะเห็นว่าพระองค์เป็นมนุษย์ จะแทรกแผ่นดินไปเมืองนาคได้อย่างไร นางทาวดีเมื่อทราบเรื่องจึงกราบทูลว่า เพียงพระทองจับชายสไบของนางให้แน่นอย่าปล่อยให้หลุดมือก็จะเสด็จไปได้ ส่วนไพร่พลที่ต้องเข้ากระบวนแห่ทั้งหมดนั้นต้องให้เกาะชายพระภูษาของพระทองให้แน่นก็จะไปถึงเมืองนาคได้เช่นกัน และก็เป็นเช่นนั้นจริง หลังจากที่พระทองพร้อมกระบวนไพร่พลบริวารเดินทางลงถึงเมืองนาค

พระราชานาคก็ได้จัดพระราชพิธีอภิเษกให้แล้วได้ถวายพระนามให้ใหม่ทั้งสองพระองค์คือ พระทองเป็น พระบาทอาทิจจวงษา และนางทาวดีเป็น พระนางทาวธิดา เกาะโคธลอกเป็นกรุงกัมพูชาธิบดี โดยราชานาคทรงจัดเสนานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ ๒ ตัวมาคอยเฝ้าคุ้มครองปกป้องแก่กรุงกัมพูชาธิบดีด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีปฏิบัติสืบมา คือเมื่อตอนส่งตัวบ่าวสาวเข้าเรือนหอ เจ้าบ่าวต้องเกาะชายสไบเจ้าสาวให้แน่น ตามอย่างที่พระทองเกาะสไบนางทาวดีเพื่อลงไปเข้าพิธีอภิเษกยังเมืองนาคนั่นเอง”

นิทานพระทองที่คัดลอกมานั้นชวนให้ตั้งคำถามมากมาย เช่นที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ (1)* ตั้งข้อสังเกตว่า ในนิทานสำนวนแรกที่เล่าว่าพระทองเป็นโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์จามแล้วมาแต่งงานกับนางนาค นิทานสำนวนนี้มีโครงเรื่องคล้ายกับนิทานที่พบในจารึกจามปาเรื่องพราหมณ์โกณฑิณยะจากอินเดียมาแต่งงานกับนางนาคโสมา ตรงนี้นำไปสู่การตีความได้หรือไม่ว่าเรื่องพระทองโอรสกษัตริย์จามกับนางนาคอาจเป็นตำนานดั้งเดิมก่อนเกิดตำนานเรื่องพราหมณ์โกณฑิณยะที่พบในจารึก

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(1)* เอกสารหลักที่ใช้ในการเรียบเรียงคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ, นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทั้งนี้เพราะจามเป็นพวกที่นับถือฮินดูก่อนมาเปลี่ยนเป็นมุสลิมในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีหลักฐานหลายข้อที่สนับสนุนคำอธิบายว่า จามเป็นพวกที่บุกเบิกการค้าทางทะเลกับผู้คนแถบนี้มาก่อน จึงน่าจะมีความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมกับผู้คนในแถบนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ พระทองจึงอาจเป็นสัญลักษณ์ของพวกจามมากกว่าพวกพราหมณ์จากอินเดียก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้นพระทองก็ยังเป็นตัวแทนของศาสนาฮินดูอันสืบมาจากทิศตะวันตก (อินเดีย) อยู่ดี

ในขณะเดียวกันนิทานสำนวนหลังที่ว่าพระทองหนีมาจากมอญนั้น อาจเป็นเครื่องสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงกัมพูชากับอาณาจักรพุกาม โดยเฉพาะอาจเกี่ยวกับการสืบทอดศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากมอญสู่กัมพูชา ทั้งนี้มีหลักฐานว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือหลัง พ.ศ. ๑๗๐๐ กัมพูชาได้เปลี่ยนจากการนับถือฮินดูมาเป็นนับถือพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งน่าจะแพร่มาจากลังกาเข้าดินแดนมอญ-พม่า ผ่านสยามประเทศแล้วจึงมาถึงกัมพูชา

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าพระทองจะเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายใด แต่นิทาน “พระทอง-นางนาค” ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “นาค” เป็นผู้สร้างบ้านแปลงเมืองให้มั่งคั่งมั่นคง ทั้งนี้ก็ด้วยแรงเสน่หาของพระทองกับนางนาคที่ถือเป็นต้นตระกูลชาวเขมร จนเกิดเป็นประเพณีที่เจ้าสาวต้องจีบหมากพลูคำหนึ่งใส่มือเจ้าบ่าว รวมทั้งประเพณีที่เจ้าบ่าวต้องเกาะชายสไบเจ้าสาวตอนส่งตัวเข้าห้องหอ และเกิดเป็นบทเพลงนางนาคกับพระทองที่ยังคงมีบรรเลงตราบจนปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของคติความเชื่อเรื่องนาคในดินแดนอุษาคเนย์ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

นิทานสำนวนนี้คัดลอกจาก ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร (ภาคที่ ๑-๙) แปลจากภาษาเขมรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประยูร ทรงศิลป์ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี, ๒๕๔๐.

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved