ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 4/3/09 at 21:20 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 29)


(Update 11 ต.ค. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 29

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 17




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 17 ก้าวย่างไปด้วยกัน

ออกอากาศเมื่อ : 2008-08-25



บันทึกปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค”
โดย..ทีมวาไรตี้ Oknation
จาก คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ถึง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

".......นับเป็นความเชื่อและศรัทธาอย่างยิ่งของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดหนองคาย ตามพระพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันปวารณาออกพรรษา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จฯ กลับจากการไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลาตลอดพรรษา (3 เดือน)
........เมื่อทั้งสามโลก ทราบข่าวกำหนดการเสด็จฯ กลับในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ แม้แต่พญานาค ต่างก็มีความยินดีและเตรียมการต้อนรับตามศรัทธาของตน โดยเหล่าเทวดาทั้งหลายได้เนรมิตบันไดทอง เงิน และแก้ว ทอดลงมาส่งเสด็จถึงพื้นโลก ชาวมนุษย์ ได้จัดถวายอาหารคาว หวาน และของแห้ง รวมทั้งดอกไม้ ธูป เทียน ในพิธีทำบุญตักบาตรที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหนะ”

ส่วนเหล่าพญานาคที่จำพรรษาอยู่เมืองบาดาล ได้ร่วมกันพ่นลูกไฟถวายเป็นพุทธบูชามีลักษณะเป็นดวงกลมสีแดงอมชมพู พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ไม่มีเสียง ไม่มีควัน และไม่มีกลิ่น เหมือนดอกไม้ไฟหรือพลุ

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานยังคงมีความเชื่อในเรื่อง “พญานาค” อยู่ว่า ที่ "คำชะโนด" แห่งนี้ คือ "เมืองบาดาล" ซึ่งเป็นที่ตั้งของวังนาคินทร์ที่ประทับของ “ศรีสุทโธ” พญานาคราช และการที่จะเกิด “บั้งไฟพญานาค” มากหรือน้อยในแต่ละปี ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่าจะต้องมาสังเกตดูที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในคำชะโนด ที่ถือกันว่า เป็นปากทางสู่เมืองบาดาล
ถ้าปีใดมีสัตว์น้ำลอยคอเป็นจำนวนมาก แสดงว่าปีนั้นจะเกิดบั้งไฟพญานาคมาก เพราะเมืองบาดาลเปิด ภายในสถานที่แห่งนี้จะมี "ศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ" และ "บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์" ให้กราบไหว้

การเดินทางจะอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 101 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางอุดรธานี-สกลนคร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางอำเภอบ้านดุง ศึกษาประวัติศาสตร์พร้อมกราบนมัสการศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธกันเรียบร้อย เตรียมตัวให้พร้อมมุ่งหน้าสู่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งมาถึงที่นี่คง ค่ำมืดพอดี เห็นทีต้องหาที่พักนอนเอาแรงเสียก่อน เพื่อรุ่งเช้าจะได้สดชื่นพร้อมเดินทาง “ตามรอยบั้งไฟพญานาค” กันต่อ

จุดเยี่ยมชมถัดไปสำหรับเช้าวันใหม่ นั่นก็คือ “วัดไทยและจุดชมบั้งไฟพญานาค” ซึ่งเป็นบริเวณที่กล่าวกันว่าเห็นได้ชัดเจนที่สุด ถึงตรงนี้หากใครรู้สึกหิว เดินทางต่อไปอีกนิดที่อำเภอปากคาด มีร้านอาหารที่ชื่อว่า “โขงค้ำคูณ” ให้แวะเติมพลังพร้อมชื่นชมบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำโขง มองเห็นทิวทัศน์ฝั่งลาวได้อย่างชัดแจ๋วกันด้วย

อิ่มหนำสำราญกันถ้วนทั่ว เดินทางต่อไปยัง วัดอาฮงศิลาวาส ซึ่งเชื่อกันว่า แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลคดเคี้ยวผ่านวัดแห่งนี้เป็น สะดือแม่น้ำโขง เปรียบเสมือนช่องทางเดินทางจาก ปากเมืองบาดาล (คำชะโนด) ถึงแม่น้ำโขง ณ จุดนี้ (กม.115-116 ต.ไกสี อ.บึงกาฬ) โดยบริเวณดังกล่าวจะเป็นช่วงที่มีน้ำวนและลึกมาก

ปิดท้ายทริปนี้ด้วยการแวะไปเที่ยว ศาลาแก้วกู่ เมืองเทพนิมิต และจินตนาการ แดนอัศจรรย์ หรือที่รู้จักกันในนาม “วัดแขก” ตั้งอยู่ห่าง จากตัวเมืองหนองคายไปประมาณ 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางไปโพนพิสัย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธมามกสมาคม จังหวัดหนองคาย

เป็นสถานที่ซึ่งคล้ายพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแสดงรูปปั้นทางศาสนา ทั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รูปเทพฮินดูต่าง ๆ รูปปั้นเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ รูปปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ฯลฯ เก็บเกี่ยวความรู้เรื่องราวที่มาของตำนานบั้งไฟพญานาคกันเต็มอิ่ม คราวนี้ก็ได้เวลารอพิสูจน์ความมหัศจรรย์ยามค่ำคืนกันแล้ว โดยต้องไม่ลืมปรัชญาที่ว่า...เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ !!!
ขอให้มีความสุขกับการท่องเที่ยวตามรอยพญานาค และชมปรากฏการณ์ “บั้งไฟ” มหัศจรรย์เหนือลำน้ำโขงโดยทั่วกัน.

ที่มา - ‘ทีมวาไรตี้’ OKnation ตุลาคม 2550



ประวัติ "วังนาคินทร์" คำชะโนด อ.บ้านดุง จ. อุดรธานี


"........ตามตำนานกล่าวว่า เมืองชะโนด มี พญาศรีสุทโธนาคราช เป็นใหญ่ ครองเมืองหนองกระแสครึ่งหนึ่ง มีบริวาร 5,000 ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของ พญาสุวรรณนาคราช และมีบริวาร 5,000 เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วยกันด้วยความรัก สามัคคี มีอะไรก็แบ่งกันกินเป็นเช่นนี้ตลอดมา

.........จนอยู่มาวันหนึ่ง สุวรรณนาคราช พาบริวารออกไปล่าเนื้อหาอาหาร ได้ช้างมาเป็นอาหาร จึงได้แบ่งให้ สุทโธนาคราช ครึ่งหนึ่ง พร้อมกับนำขนช้างไปให้ดูเพื่อเป็นหลักฐาน ต่างฝ่ายต่างก็อิ่มหนำสำราญ และอยู่มาวันหนึ่ง สุวรรณนาค ก็ออกหาอาหารอีก ครั้งนี้ได้เม่นมาเป็นอาหาร จึงได้แบ่งให้สุทโธนาคไปครึ่งหนึ่ง พร้อมกับนำขนไปให้เพื่อเป็นหลักฐานเช่นเคย

เม่นตัวนิดเดียวแต่ขนใหญ่ เมื่อแบ่งให้ สุทโธนาค ก็ไม่พอใจ เพราะพิจารณาดูแล้ว ขนาดขนยังใหญ่ขนาดนี้ แล้วตัวคงใหญ่กว่านี้แน่นอน จึงไม่รับเนื้อเม่น พร้อมกับส่งคืน สุวรรณนาค เห็นดังนั้นจึงไปชี้แจงให้ทราบ ขอให้รับไว้เป็นอาหาร และผลสุดท้ายทั้งสองจึงประกาศสงครามกัน สาเหตุที่เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งออกหาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ต้องออกไป เพราะกลัวว่าบริวารจะปะทะกัน

เมื่อประกาศสงครามกันขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็ระดมไพร่พลบริวาร สงครามเกิดขึ้น ไม่มีฝ่ายไหนแพ้ ชนะ พญานาคทั้งสองรบกันอยู่เป็นเวลา 7 ปี ก็ไม่มีใครแพ้ ชนะ เพราะต่างฝ่ายต่างก็หวังครองหนองกระแสเพียงฝ่ายเดียว จนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่รอบ ๆ หนองกระแสเกิดความเสียหาย เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหว เทวดาต่างก็เดือดร้อนกันไปด้วยสามภพ

ความเดือดร้อนทราบไปถึงพระอินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ เทวดาทั้งหลายต่างก็พากันไปร้องทุกข์และเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้พระอินทร์ได้ทราบ ดังนั้นจึงได้หาวิธีให้พญานาคทั้งสองหยุดรบกัน เพื่อความสงบสุขของไตรภพ จึงได้เสด็จลงจากดาวดึงส์มายังเมืองมนุษย์โลก ที่หนองกระแส แล้วตรัสเป็นเทวราชโองการ ว่า "ให้ท่านทั้งสองหยุดรบกันเดี๋ยวนี้"

การทำสงครามครั้งนี้ถือว่าเสมอกัน และให้หนองกระแสเป็นเขตปลอดสงคราม และให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำคนละสาย จากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเลก่อนจะได้ปลาบึกไปไว้ในแม่น้ำแห่งนั้น และให้ถือเอาภูเขาพญาไฟเป็นเขตกั้นคนละฝ่าย ใครข้ามไปราวีรุกรานกันขอให้ไฟจากภูเขาไฟไหม้ฝ่ายนั้นเป็นจุลมหาจุล

หลังจากพระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการเช่นนั้น สุทโธนาค พร้อมไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแสสร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนเป็นภูเขาก็คดโค้งไปตามภูเขา หรืออาจจะลอดภูเขาบ้างตามความยกง่ายในการสร้าง เพราะสุทโธนาคเป็นคนใจร้อน แม่น้ำนี้เรียกว่า "แม่น้ำโขง" คำว่า โขง มาจากคำว่า โค้ง ได้ถึงทะเลก่อนจีงได้เป็นผู้ชนะปลาบึกจึงอยู่แม่น่ำโขง ส่วนฝั่งลาวเรียกว่า "แม่น้ำของ"

ส่วน "สุวรรณนาค" เมื่อได้รับเทวราชโองการก็พาบริวารไพร่พลออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาค เป็นคนตรงพิถีพิถันและยังเป็นผู้มีจิตใจเย็น การสร้างแม่น้ำจึงต้องทำให้ตรง เ แม่น้ำนี้เรียกว่า แม่น้ำน่าน แม่น้ำแห่งนี้จึงเป็นแม่น้ำที่ตรงกว่าแม่น้ำทุกสานในประเทศไทย

การสร้างแม่น้ำแข่งขัน ปรากฏว่า "สุทโธนาค" สร้างแม่น้ำโขงเสร็จก่อนตามสัญญาของพระอินทร์ "สุทโธนาค" เป็นผู้ชนะ และปลาบึกจึงต้องไปอยู่แม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลก จากนั้น "สุทโธนาค" สร้างเสร็จ ปลาบึกขึ้นอยู่แม่น้ำโขงและเป็นผู้ชนะตามสัญญาแล้ว จึงได้แผลงฤทธิ์เหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ณ ดาวดึงส์ ทูลถามพระอินทร์ว่า

"ตัวข้าเป็นชาติเชื้อพญานาค จะอยู่โลกมนุษย์นานเกินไปก็ไม่ได้" จึงได้ขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองมนุษย์ เอาไว้ 3 แห่ง พร้อมกับทูลถามว่า "จะให้ครอบครองอยู่ตรงไหนแน่นอน" พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่จึงอนุญาตให้มีรูพญานาคเอาไว้ 3 แห่ง คือ ที่ พระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ (ที่หนองคันแท) และที่ พรหมประกายโลก (คำชะโนด)

พระธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ (หนองคันแท) เป็นทางขึ้น - ลงของพญานาคเท่านั้น ส่วนพรหมประกายโลก คือที่พรหมได้กลิ่นไอดิน เมื่อพรหม เทวดา ลงมากินดินจนหมดฤทธิ์ กลายเป็นมนุษย์ แล้วให้สุทโธนาคไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ (ชะโนดมีลักษณะเหมือนต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาล ผสมกัน)

"........และให้ถือเป็นต้นไม้บรรพกาลให้สุทโธนาค มีลักษณะ 31 วัน ข้างขึ้น 15 วัน ให้สุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ เรียกว่า "เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ" มี "วังนาคินทร์" คำชะโนดเป็นถิ่น และอีก 15 วันข้างแรม ให้สุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นนาค และเรียกชื่อว่า "พญานาคราชศรีสุทโธ" ให้อาศัยอยู่เมืองบาดาล
........ดังนั้นชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี จึงพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญประจำปี ทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่หลายครั้ง บางทีจะเห็นผู้หญิงไปยืมฟืม (เครื่องมือทอผ้า) ไปทอผ้าอยู่เป็นประจำ และเมื่อคุยกับชาวบ้านถูกคอกันก็ได้นอนพักที่บ้านชาวบ้าน แต่ขอให้จัดที่นอนให้เป็นใต้ถุนบ้านในพะเนียด (กระเฌอใหญ่) แต่เมื่อชาวบ้านตื่นขึ้นมาดูหญิงสองคนนั้นกลายเป็นงูใหญ่นอนขดอยู่

หรือไม่บางครั้งชาวเมืองชะโนด ได้จัดงานบุญประจำปี มีการมาว่าจ้างเอาภาพยนตร์ไปฉายที่เมืองชะโนดก็เคยมี จนหน่วยฉายหนังเร่เมืองอุดรธานี กลัวไปตาม ๆ กัน เรื่องนี้สามารถที่จะสอบถามชาวบ้านในระแวกนั้นได้ถึงเรื่องอัศจรรย์ต่าง ๆ หรือแม้เวลาที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ที่คำชะโนดกลับยกตัวลอยขึ้นทั้งเกาะ น้ำจะไม่ท่วม เมื่อเวลาน้ำลดก็จะลดลงเหมือนเดิม

ที่มา - จัดทำโดย ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
โรงเรียสตรีศรีสุริโยทัย เขตสาทร กทม.




ผาแดง นางไอ่

"...ผาแดง นางไอ่…เป็นตำนานรัก ระหว่างหญิงหนึ่ง-สองชาย เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและเสียทีถูกทำร้ายตายไป ก็เกิดสงครามจนบ้านเมืองถล่มทลายกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ จุดกำเนิดตำนานรักอีสาน อันเป็นต้นแบบที่สมัยนี้มักนิยมไปขับร้องกัน

ในเรื่องได้กล่าวถึง พระยาขอม ผู้ครอง เมืองเอกชะธีตา มีธิดาชื่อ นางไอ่คำ ที่อยู่ในวัยสาวอายุย่าง 15 ปี มีความงามเป็นที่เลื่องลือไปถึงเจ้าชายเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่หมายปอง ใคร ๆ ก็อยากได้มาเป็นคู่ครอง และความงามที่เล่าลือนั้นก็ได้เข้าหูของ ผาแดง แห่ง เมืองผาโพง ด้วยความคิดถึง และอยากชมความงามของนางไอ่คำ ผาแดงจึงได้แอบขี่ม้ามาหานางไอ่คำ จนทั้งสองได้พบกันและเกิดความรัก สุดท้ายเมื่อทั้งสองได้เสียกันจึงสัญญากันว่า จะทำพิธีสู่ขอและแต่งงานตามประเพณีต่อไป

ต่อมาเมื่อถึงเดือนหก "พระยาขอม" จะทำบุญบั้งไฟจึงได้จัดการแจ้งข่าวสารไปยังเมืองต่าง ๆ ให้ทำบั้งไฟมาร่วมงาน ส่วนผาแดงไม่ได้รับเชิญเพียงได้ทราบข่าวก็มา เนื่องเพราะมีสัญญารักกับนางไอ่คำอยู่แล้ว จึงได้ถือโอกาสนำบั้งไฟมาร่วม ก็ได้รับการต้อนรับจากพระยาขอมเป็นอย่างดี พระยาขอมได้ตั้งรางวัลเมื่อบั้งไฟของใครชนะ คือขึ้นสูงจะให้ทรัพย์สมบัติและนางสนมกำนัล ส่วน ผาแดง ถ้าชนะจะได้ยกนางไอ่คำให้ ในเวลาจุดบั้งไฟของเมืองต่าง ๆ ขึ้น ส่วนของพระยาขอมไม่ขึ้น ของ ผาแดง แตกกลางบั้ง พระยาขอมก็ไม่ทำตามสัญญา สุดท้ายเมืองอื่นก็กลับกันหมด

ส่วน ผาแดง ก็กลับเมืองของตนพร้อมความทุกข์ เพราะรัก ประกอบกับบั้งไฟไม่ขึ้น ในการจุดบั้งไฟครั้งนี้ พังคี ลูกชาย "สุทโธนาค" ไม่ได้นำบั้งไฟมาร่วมเพราะเป็นนาค แต่ก็ได้แปลงกายเป็นกระรอกด่อน (เผือก) มาร่วมงานด้วย และได้หลงรักนางไอ่คำด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้ตัวนางไอ่คำ เมื่อบุญบั้งไฟเลิกก็กลับบ้านพร้อมด้วยแบกเอาความรักกลับไปด้วย

เมื่อถึงเมืองก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้ลาพ่อมาหานางไอ่คำอีกครั้ง และแปลงกายเป็นกระรอกด่อนมาเหมือนเดิม ส่วนบริวารก็แปลงร่างเป็นสัตว์อื่น ๆ กระรอกด่อนพังคี แขวนกระดิ่งทองไว้ที่คอด้วย ได้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ที่ใกล้ปราสาทของนางไอ่คำ

เมื่อนางไอ่คำเห็นกระรอกก็อยากได้ จึงให้นายพรานจับกระรอก นายพรานได้ยิงกระรอกด้วยธนู ก่อนตาย พังคี ได้อธิษฐานว่า "ขอให้เนื้อของข้าจงมีพอกินแก่คนทั้งเมือง และอร่อย" เมื่อกระรอกตายชาวเมืองก็แบ่งกันจนทั่ว ยกเว้นแม่หม้าย เพราะไม่ได้ช่วยงาน ฝ่ายบริวารพังคี เมื่อเห็นดังนั้นจึงรีบกลับไปบอกสุทโธนาค ๆ โกรธมาก จึงได้เกณฑ์พลนับหมื่นเพื่อถล่มเมืองพระยาขอม ใครกินเนื้อพังคีต้องฆ่าให้หมด

ในขณะเดียวกัน ผาแดง ที่รัก นางไอ่คำ อยู่แล้ว เมื่อถึงเมืองแล้วก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จึงรีบขึ้นม้าบักสาม จากเมืองผาโพง สู่เมืองเอกชะธีตา เมื่อมาถึงนางไอ่คำก็ต้อนรับด้วยดี พร้อมจัดอาหารมาให้ ผาแดง รู้ว่าอาหารคือเนื้อกระรอกด่อนจึงไม่กิน และได้บอกแก่นางไอ่คำว่า หากใครกินเนื้อนี้แล้วบ้านเมืองจะถล่มถึงตาย พอตกกลางคืนกองทัพพญานาคก็มาถึงเมือง แผ่นปฐพีจึงถล่มเสียงดังสนั่นไปทั่ว ผาแดงจึงได้ให้ นางไอ่คำ เตรียมข้าวของพอที่จะเอาไปได เช่น แหวน ฆ้อง และกลองประจำเมือง แล้วรีบขึ้นม้าซ้อนท้ายผาแดงควบม้าออกจากเมืองทันที

เมื่อพญานาครู้ว่านางไอ่คำหนี จึงได้ออกติดตามไปติด ๆ แผ่นดินถล่มไม่หยุด ถึงแม้ว่าจะควบม้าเร็วขนาดไหน พญานาคก็ยังไม่หยุดตาม จนในที่สุดม้าบักสามก็ค่อย ๆ หมดแรง พญานาคตามทันเอาหางตวัดเกี่ยวเอาตัวนางไอ่คำลงจากหลังม้า ส่วนผาแดงก็ควบม้าต่อไป พญานาคก็ตามไปอีก เพราะผาแดงมีแหวนของนางไอ่คำติดตัวไปด้วย และเมื่อเห็นพญานาคตามไปเช่นนั้น ผาแดงจึงทิ้งแหวนและก็ปลอดภัยในที่สุด ก่อนผาแดงจะพานางไอ่คำหนี...

ต่อมาเมื่อผาแดง ถึงเมืองผาโพง เสียใจที่สูญเสียคนรักไปต่อหน้าต่อตาม จึงได้อธิษฐานต่อเทพยดาว่า จะขอตายเพื่อไปต่อสู้กับพวกพญานาค กองทัพผีผาแดง กับ กองทัพพญานาคได้ต่อสู้กันอยู่นาน น้ำในบังในหนองขุ่นข้น ดินบนบกกลายเป็นฝุ่นตลบไปหมด ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาระงับศึกให้ผาแดงกลับเมืองผี พญานาคกลับเมืองบาดาลตามเดิม ส่วนนางไอ่คำให้อยู่ที่เมืองบาดาลก่อน และขอให้ พระศรีอาริย์ ลงมาตัดสินก่อน ว่าใครคือสามีที่แท้จริง จึงจะให้นางไอ่คำไปอยู่กับคนนั้น.

ที่มา - คุณอภิรัตน์ชัย จอมศรี www.kunkroo.com

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved