ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 6/4/08 at 05:29 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 18)


(Update 30 ก.ย. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 18

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 6




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 6 ดินแดนแห่งสวนผลไม้

ออกอากาศเมื่อ : 2008-06-09



หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี บุกเมืองพญานาค

โดย สิทธา เชตวัน


ไปคูหาสวรรค์

"........ทีนี้กลับมากล่าวถึง “หลวงปู่คำคะนิง” ที่เคยเข้าไปเที่ยวในเมืองพญานาคใต้แม่น้ำโขง ว่าแตกต่างกับที่พระอาจารย์มั่นเห็นเป็นประการใด ข้าพเจ้าออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนมัสการหลวงปู่คำคะนิง จุลละมณี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2523 ที่ผ่านมานี้เอง

.........คณะของพวกเราเป็นนักปฏิบัติธรรม มุ่งกำจัดกิเลสตัณหาออกจากกาย วาจาและใจเป็นจุดสำคัญ ขณะเดียวกันก็ใฝ่ใจศึกษาค้นคว้าถึงสิ่งเร้นลับทั้งนามธรรมและรูปธรรมไปด้วยในเชิงวิชาการ เราไปพักแรมคืนกับพระอาจารย์โชติ อาภคฺโค (พระครูพิบูลธรรมภาณ) ที่ วัดภูเขาแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีหนึ่งคืน

รุ่งเช้าต่อมาก็นำรถลงแพขนานยนต์ ที่ท่าข้ามแม่น้ำมูลอำเภอพิบูลมังสาหาร ไปขึ้นฟากฝั่งตรงข้าม ซึ่งที่นั่นมีถนนสายยุทธศาสตร์จะพุ่งไปทางทิศตะวันออกเลียบฝั่งโขง ผ่านอำเภอบ้านด่าน ปากแม่น้ำมูลซึ่งไหลตกแม่น้ำโขง ถนนสายนี้จะเลียบเลาะฝั่งโขงไปทางอำเภอโขงเจียม อำเภอเขมราฐ

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นถนนสายยุทธศาสตร์สำคัญ เล่นผ่านพื้นที่สีแดงที่พวก ผกค. พยายามแผ่อิทธิพลอยู่ แต่ถนนสายนี้ก็ดีกว่าทางเกวียนเล็กน้อย เป็นถนนดินลูกรังฝุ่นคละคลุ้ง เข้าใจเอาว่ารัฐบาลคงยังไม่มีงบประมาณพอที่จะลาดยางให้ราบเรียบแน่นหนาถาวร

มัคคุเทศก์นำทางไปครั้งนี้เป็นพระอาจารย์องค์สำคัญผู้มีชื่อเสียงเลึ่องลือสองฟากฝั่งโขง ท่านคือ พระอาจารย์กิ ธัมมุตตโม แห่งวัดสนามชัย อำเภอพิบูลมังสาหาร เดิมทีนั้น ท่านพระอาจารยกิ เป็นชาวจำปาศักดิ์ ท่านเชี่ยวชาญทางธุดงควัตร ชอบอยู่ตามป่าตามถ้ำเขาเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เป็นสามเณร มีความเชี่ยวชาญเรื่องป่าเรื่องถ้ำเขาและยาสมุนไพรอย่างหาตัวจับยาก

สมัยอยู่แขวงลาวใต้ ท่านเป็นพระอาจารย์สอนสมถะ วิปัสสนา มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ในความเคารพเลื่อมใสของชาวบ้านนั้น เพราะท่านพระอาจารย์กิ ธัมมุตตโมมีอภินิหารมาก พวกเราเข้ามนัสภารหลวงปู่คำคะนิงที่ถ้ำคูหาสวรรค์ ท่านเป็นรูปร่างสูงใหญ่แบบคนโบราณ ผิวพรรณศิริราศีผ่องใสไปทั่วทั้งอินทรีย์

ก่อนนี้คือฤๅษี
แม้วัยของท่านจะ 86 และ 42 พรรษาแล้วก็ตาม ยังนั่งเอวตั้งตรง แผ่นหลังตรงดุจดามไว้ด้วยแท่งเหล็ก บ่งบอกถึงความเข้มแข็งเปี่ยมพลังภายในลึกล้ำ แม้ท่านจะบอกกล่าวอย่างยิ้มแย้มว่า ท่านไม่สบายป่วยเรื้อรังมาสองปีแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มรณภาพไปสามวันสามคืน ญาติโยมจะเอาไปเผาแล้วซี แต่ท่านก็ฟื้นขึ้นมาอีก ยังสดชื่นกระปรี้กระเปร่าคล้ายไม่ป่วยไข้เลย แสดงว่ากำลังใจของท่านเข้มแข็ง และมีบุญญานุภาพอย่างลึกลับ

หลวงปู่คำคะนิงได้อนุญาตให้คณะเราสัมภาษณ์ท่านและบันทึกเสียงได้ อัธยาศัยของท่านเปี่ยมเมตตาจิตและเปิดเผย ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ท่านเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงสิ่งสมมติ ชีวิตคนเราเหมือนตัวละครที่แสดงไปตามบทบาท ไร้สาระแก่นสาร มีแต่มรรค ผลนิพพาน เท่านั้น เป็นสารธรรมอันจริงแท้แน่นอน บริสุทธิ์สะอาด สงบศานติชั่วนิรันดร์

หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี เป็นชาวคำม่วน แขวงคำม่วน ประเทศลาว ปีนี้อายุเต็ม 86 ปี แรกเริ่มเดิมทีก่อนจะเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์นั้น มีครอบครัวลูกเมียเป็นฝั่งเป็นฝามาก่อน แต่พออายุได้ 30 ปีก็เบื่อหน่ายชีวิตครองเรือน จึงอำลาลูกเมียออกบวชเป็นฤๅษีดาบส ท่องเที่ยวธุดงค์ไปในป่าเขาลำเนาไพร เป็นเวลานานถึง 15 ปี

ท่านไม่เคยเข้าอยู่หมู่บ้านเลย อยู่แต่ในป่าเป็นวัตร ถือสัจจะเคร่งในศีลฤๅษีโยคี ฝึกตนอย่างเคร่งเครียดละเว้นความชั่วทุกประการ 7 วันขบฉันอาหารครั้งหนึ่ง 15 วันขบฉันอาหารครั้งหนึ่ง เป็นการบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้า เพื่อพิสูจน์กำลังใจและความทรหดอดทนของตนว่า มีความกลัวตายไหม? อาลัยใยดีในสังขารร่างกายขนาดไหน ?

จากการปฏิบัติตนแบบฤๅษีชีไพรอย่างยิ่งยวดนี้เอง ทำให้ท่านพบกับความศานติสงบกายสงบจิตอย่างล้ำลึก มีความสุขอย่างหาที่เปรียบมิได้ในองค์ฌานสมาธิ เป็นพระฤๅษีผู้แก่กล้าฌานสมาบัติ สามารถเข้าฌานได้นานวัน โดยไม่อ่อนเพลีย ไม่หิวโหย ร่างกายกระชุ่มกระชวยแข็งแรงเป็นปกติ สามารถเดินธุดงค์ขึ้นเขาลงห้วยได้เหมือนคนหนุ่มฉกรรจ์

เพียงแต่ว่าร่างกายไม่อ้วน ร่างกายผอมเกร็ง แข้งขามือกำได้รอบ แต่ทว่าแข็งแรงอย่างน่าอัศจรรย์ ไปไหนมาไหนในป่าในถ้ำ สัตว์ป่าก็เป็นมิตรไม่กล้ามาทำอันตราย ด้วยอำนาจเมตตาที่แผ่ออกมาจากฌานสมาธิ อยู่แต่ในป่าในถ้ำนับร้อยนับพันถ้ำในภูเขาแดนลาว เสวยสุขในฌานจนเบื่อหน่าย เห็นว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้นทุกข์ ไปสู่มรรค ผลนิพพาน หลวงปูคำคะนิงจึงได้ลาเพศฤๅษีดาบสเข้าสู่พระพุทธศาสนาอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อปฏิบัติธรรมสูงทางพ้นทุกข์อันถูกต้องร่องรอย

เมื่อบวชเป็นพระแล้วก็ยังถือมั่นอยู่ในสัจจอธิษฐาน คืออยู่ในป่าในถ้ำเป็นวัตร ไม่ยอมเข้าอยู่หมู่บ้านหรือสำนักสงฆ์และวัดวาอารามใด ๆ เป็นเด็ดขาด มุ่งถือ “พระธรรม” คือการปฏิบัติทางจิตเพื่อความหลุดพ้นเป็นใหญ่ ได้ธุดงค์ไปจำพรรษาตามถ้ำตามทิวเทือกเขาต่าง ๆ ในแดนลาวปีแล้วปีเล่า ตราบจนกระทั่งเวลานี้ได้ 27 พรรษา ถ้ารวมเป็นพระฤๅษีด้วยก็เป็น 42 พรรษา

ถ้ำมืดชาวบังบด
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา หลวงปู่คำคะนิงได้ทราบจากคำเล่าลือของชาวบ้านและพระธุดงค์ว่า ณ ที่ถ้ำมืดใกล้กับภูปัง ฝั่งไทยเขตโขงเจียม อยู่เลยอำเภอบ้านด่านขึ้นไปทางเหนือนั้น เป็นถ้ำเมืองลับแล หรือที่ชาวบ้านเรียก "ชาวบังบด" ถ้ำมืดนี้เป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์มีเหล็กไหล ชาวเมืองลับแลหวงแหนมาก แต่วันดีคืนดี ใครมีวาสนาหลงเข้าไปในถ้ำเมืองลับแลที่ว่านี้ จะได้รับแก้วแหวนเงินทองจากชาวลับแล หรือไม่ก็ได้พระทองคำมาบูชา

ลึกลงไปในถ้ำมืดเป็นนครเร้นลับใต้พิภพ คือ เมืองบาดาลของพญานาค อยู่ใต้แม่น้ำโขง เป็นเมืองใหญ่โตมโหฬาร ถ้าเข้าไปจากถ้ำฝั่งไทยจะลอดไปใต้แม่น้ำโขง เป็นอุโมงค์กว้างใหญ่และมีทางแยกไปสลับซับซ้อนคล้ายรวงผึ้ง สามารถจะทะลุขึ้นฝั่งโขงด้านประเทศลาว อุโมงค์บางสายทะลุไปออกแก่งลี่ผีสีทันดร ระยะทางนับร้อยกิโลเมตร อุโมงค์บางสายซึ่งเป็นเมืองบาดาลนี้ไปทะลุออกเมืองแกวเมืองญวน

ซึ่งพระธุดงค์หลายรูปได้นั่งทางในตรวจสอบด้วยกระแสญาณแล้ว เห็นตรงกันว่าเป็นความจริง ได้มีชาวบ้านพวกแสวงหาทรัพย์สินโบราณสมบัติปู่โสมหลายคณะ ได้เข้าไปค้นหาสมบัติในถ้ำมืดนี้ ปรากฏว่าเป็นถ้ำกว้างใหญ่ลักษณะถ้ำตัน ไม่มีอุโมงค์ลับซับซ้อน ไม่มีเมืองพญานาคไม่มีเหล็กไหล ไม่มีทรัพย์สมบัติโบราณแต่อย่างใดเลย

พวกคนโลภโมโทสันทั้งหลายต่างผิดหวังพากันด่าว่านินทาพระสงฆ์องค์เจ้าหาว่าโกหกหลอกลวงนั่งหลับตาพยากรณ์ส่งเดชอวดอุตริมนุสธรรม ด่าว่านินทาพระสงฆ์องค์เจ้า ผลกรรมทันตาเห็น ปรากฏว่าพวกค้นหาสมบัติในถ้ำ
พากันหาทางออกจากถ้ำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่จุดคบไฟสว่าง พวกเดียวกันแท้ ๆ ก็มองไม่เห็นกันต่างหลงทางเดินร้องตะโกนเรียกหากันโหวกเหวกอยู่ 15 วัน อดข้าวอดน้ำแทบตาย จนต้องดื่มน้ำปัสสาวะตัวเองแทนน้ำ พอวันที่ 16 จึงหาทางออกจากถ้ำได้ นับเป็นเรื่องเร้นลับอาถรรพณ์น่าพิศวง

หลวงปู่คำคะนิงอยากจะพิสูจน์ความจริงเรื่อง "ถ้ำมืด" นี้ให้กระจ่างออกมา จึงได้เดินทางมายังถ้ำมืด ได้พบว่าเป็นถ้ำกว้างใหญ่มาก ถ้าติดฟืนไฟให้สว่างขึ้นในถ้ำมืดนั้นสามารถจะใช้เป็นห้องประชุมผู้คนได้เป็นหมื่น ๆ คนทีเดียว ในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่มาก มีลำธารไหลลอดใต้ภูเขาอยู่ในถ้ำ มีบาตรโบราณเก่า ๆ บรรจุพระเครื่องหักชำรุด และผ้าไตรผุเปื่อยซุกอยู่ซอกถ้ำแห่งหนึ่ง แสดงว่ามีคนเข้ามาบูชาเอาพระเครื่องไปหรือแก้บนผีสางเทวดา

หลวงปู่คำคะนิงได้ออกเดินสำรวจดูถ้ำมืด ใช้คบไฟจุดให้แสงสว่าง สำรวจตรวจดูทุกซอกทุกมุมอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็ไม่พบว่ามีช่องทางจะทะลุเข้าไปข้างในได้อีกเลย มันเป็นถ้ำตันขนาดใหญ่ คล้ายห้องโถงที่มีทางเข้าและออกทางเดียวเท่านั้น ที่เล่าลือกันว่าถ้ำนี้เป็นถ้ำเมืองลับแล และมีอุโมงค์ลับลงไปใต้บาดาลเป็นเมืองพญานาคนั้น เห็นจะรู้เห็นด้วยสายตาธรรมดาไม่ได้

เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นสภาวะทิพย์ มีความละเอียดอ่อนสุขุมยิ่งกว่าสายลม เบาบางยิ่งกว่าใยแมงมุม แต่ทว่าแข็งกล้ายิ่งกว่าเหล็กเพชร มีอานุภาพยิ่งกว่าสายฟ้า สามารถจะให้คุณและโทษแก่มนุษย์ผู้หยาบช้าจิตใจสกปรกโลภโมโทสันได้ถึงแก่วิบัติฉิบหายในพริบตา

ฉะนั้นจำจะต้องใช้อำนาจฌานสมาธิตรวจสอบด้วยทางในให้รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อหลวงปู่คำคะนิงนั่งเข้าฌานตรวจสอบด้วยทางใน เห็นนิมิตปรากฏสว่างจ้าขึ้นตรงมุมถ้ำด้านหนึ่ง มองเข้าไปตรงผนังถ้ำเห็นใสกระจ่าง คล้ายผนังถ้ำทำด้วยแผ่นกระจก ในผนังถ้ำนั้นมีบ่อน้ำหิน ในบ่อน้ำนี้มีหินก้อนหนึ่งแช่อยู่รูปร่างคล้ายจระเข้ เสียงในนิมิตบอกว่า ให้ข้ามหรือรอดให้ท้องจระเข้หินนี้เข้าไป แล้วจะพบประตูลับแลเข้าสู่ถ้ำข้างใน

เมื่อทราบแล้วดังนั้น หลวงปู่คำคะนิงจึงได้ออกจากสมาธิ แล้วออกเดินสำรวจถ้ำมืดอีกครั้ง โดยตรงไปที่ผนังถ้ำที่ปรากฏเห็นในนิมิต ก็พบด้วยความประหลาดใจว่า มีหินย้อยลงมาคล้ายหลืบฉากเล็ก ๆ ซึ่งตอนแรกเดินตรวจดูอย่างละเอียดแล้วไม่ได้พบหินย้อยตรงนี้ ดูคล้ายตาเซ่อไปเองหรือไม่ก็มีอะไรบังตาไว้ยังงั้นแหละ

หลวงปู่คำคะนิงจึงนั่งยอง ๆ ลงชะโงกเข้าไปดูในซอกหลืบหินย้อยนี้ก็พบว่า เป็นซอกมุมทำเลพิกล มีรูดำมืดเข้าไป เป็นรูขนาดคนพรรมดามุตคลานเข้าไปได้ทีละคน แต่เมื่อเข้าไปแล้วจะเป็นรู้ตันหรือข้างในเป็นเหวลึกยังไม่รู้ อาจเป็นรูเข้าสู่ที่อยู่อาศัยของงูเหลือมยักษ์ก็เป็นได้

ธรรมย่อมรักษา
การที่จะมุดคลานเข้าไปนับเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง แต่หลวงปู่คำคะนิงไม่เคยนึกหวาดกลัวเลย เพราะมีประสบการณ์เรื่อง มุดสำรวจถ้ำ เสี่ยงมฤตยูมาแล้วอย่างโชกโชนนับถ้ำไม่ถ้วน ประการสำคัญที่สุดก็คือพระกรรมฐานอย่างท่าน ซึ่งจาริกธุดงค์อยูในป่าเขาแดนอันตรายร้อยแปดพันเก้าประการนี้ ได้อธิษฐาน "ตาย" ไว้ตั้งแต่วินาทีแรกที่สมาทานธุดงค์แล้ว

นั่นคือพร้อมเสมอที่จะตายทุกเวลา ไม่อาลัยเสียดายชีวิต ถ้ากรรมเก่าในอดีตสร้างไว้ให้ผล ก็พร้อมที่จะอุทิศสังขารร่างกายให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ป่าด้วยความยินดี เพื่อชดใช้กรรมเก่าให้หมดสิ้นกันไปเสียเลยในชาตินี้ ไม่ต้องติดค้างหนี้เวรหนี้กรรมกันอีกต่อไป

พระธุดงค์ขณะตกเป็นเหยื่อเสือขบกัดหรือตกเป็นเหยื่องูเหลือม ท่านจะต้องตั้งสติให้มั่นคง กำหนดจิตให้แช่มชื่นเบิกบานใจที่ได้อุทิศร่างตัวเองให้เป็นอาหารของสัตว์นั้น ๆ แล้วจึงแผ่เมตตาให้อโหสิสัตว์ตัวนั้นไม่ขออาฆาตจองเวร จากนั้นก็ปล่อยวางสังขารร่างกายรูปนามขันธ์ห้าโดยสิ้นเชิง เจริญวิปัสสนากำหนดอารมณ์ปัจจุบันเป็นตัวปัญญา

เมื่อจิตปล่อยวางได้แล้วเช่นนี้ ความเจ็บปวดขณะตกอยู่ในปากสัตว์ก็จะไม่มี จะมีแต่สติติดตามจิตอยู่ทุกขณะจิตเป็นอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อวิญญาณในขันธ์ห้าดับคือสิ้นใจตาย สติก็ยังดำรงอยู่ว่าขันธ์ห้าของตนแตกดับแล้ว

ตอนนี้เองจิตในจิตหรือตัวสติปัญญา อันเป็นนามธรรม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สว่าง สะอาดบริสุทธิ์ ก็จะสืบต่อเป็นสันสติออกจากร่างไปสู่กระแสมรรค ผลนิพพานแดนสงบศานติสุข ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

เมื่อพระธุดงค์ตัดสินใจพร้อมที่จะตายได้ทุกเวลาเช่นนี้จิตย่อมยังเกิดความเบาสบาย ชุ่มชื่นเบิกบาน มีความกล้าหาญอยู่ตลอดเวลา ไม่หวาดกลัวอะไรทั้งสิ้น อะไรจะเกิดขึ้นก็ให้มันเกิดขึ้น ถ้าเป็นกรรมเก่าส่งผลก็พร้อมที่จะยอมรับกรรมนั้น แต่ถ้าไม่เคยสร้างกรรมเวรไว้ในอดีต หากเผชิญอันตรายใด ๆ ธรรมะย่อมปกปักรักษาให้ปลอดภัย สรุปแล้วพระธุดงค์ท่านเชื่อมั่นใน พระธรรมย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม และเชื่อใน "กฎแห่งกรรม"

มีอีหยังขอเบิ่งแหน่
หลวงปู่คำคะนิงจึงกำหนดจิตอธิษฐานว่า
"สาธุ..นะโม..อันว่านมัสการแด่พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ อันเป็นสรณะที่พึ่งประเสริฐสูงสุด อาตมาภาพจักขออนุญาตเข้าไปในถ้ำสถานอันลึกลับแห่งนี้ ขอปวงเทพเจ้าทั้งหลาย อันมีเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าถ้ำ ตลอดจนยักษ์ คนธรรพ์ และพญานาคทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ ณ ถ้ำสถานแห่งนี้

จงได้รับทราบและเปิดทางสะดวกให้แก่อาตมาภาพด้วยเถิด อาตมาภาพอยากจะขอเข้าไปดูชมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นวาสนาบุญหูบุญตาม ถ้าหากมีจริงก็ขอให้ได้ดูชมสมใจ มิได้มีเจตนาโลภโมโทสันอยากได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือทรัพย์สมบัติของพวกท่านแต่ประการใดเลย.."

เมื่ออธิษฐานจบแล้ว หลวงปู่คำคะนิงก็จุดเทียนเล่มใหญ่ที่เตรียมมาในย่ามหลายห่อ แล้วมุดคลานเข้าไปในรูดำมืดนั้น เข้าไปลึกประมาณสองร้อยวาก็ทะลุออก คูหาถ้ำข้างในเป็นถ้ำกว้างประมาณห้าวา เพดานสูง มีหินย้อยจากเพดานและผนังถ้ำสีขาวหม่น ๆ งดงาม บ้างเป็นพู่พวงห้อยลงมาคล้ายม่านหรือโคมระย้า

พื้นถ้ำเป็นตระพักซ้อนขึ้นไปมีขั้นบันไดธรรมชาติ บนตระพักนั้นเป็นแอ่งน้ำใสแจ๋วปานกระจกมีหินรูปร่างคล้ายจระเข้แช่ขวางอยู่ในแอ่งน้ำ ถัดลึกเข้าไปมองเห็นปากอุโมงค์ดำมืดพอที่จะคลานมุดเข้าไปได้ก็ปรากฏว่าตรงกับนิมิตในสมาธิเป็นความจริงทุกประการ

หลวงปู่คำคะนิงจึงเดินลุยลงไปในแอ่งน้ำนั้นซึ่งลึกแค่เอว พอไปถึงจระเข้หินจึงปีนป่ายขึ้นหลังมันเพื่อจะข้ามไป แต่เป็นที่น่าประหลาดว่าจระเข้หินนั้นเคลื่อนไหวได้ มันยกตัวลอยสูงขึ้นเหนือน้ำปิดทากอุโมงค์ไว้ เอ๊ะ...นี่มันยังไงกัน
หลวงปู่คำคะนิงแปลกใจ จึงลองเอาเท้าแหย่เข้าไปใต้ท้องจระเข้หินดูทำท่าคล้ายจะมุดลอดใต้ท้องมันไป แปลกอีกแล้ว จระเข้หินก็จมตัวลงในน้ำไม่ยอมให้มุดลอดไปอีก นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว ต้องเป็นสิ่งลึกลับอาถรรพณ์คอยพิทักษ์รักษาปากถ้ำไว้เป็นแม่นมั่น ท่านจึงกำหนดจิตอธิษฐานขึ้นดัง ๆ ว่า

"โอ๊ย...ผู้ข้า...ขอเข้าไปเบิ่งบูชาหูบูชาตาดอก ถ้ามีอีหยังขอเบิ่งแหน่ ไม่มีเจตนาอย่างอื่นใดดอก"

(เป็นภาษาไทยอีสานมีความหมายว่า ตัวข้าหรือกระผม ขอเข้าไปดู เพื่อบูชาหูบูชาตา ถ้ามีอะไรขอดูหน่อย ไม่มีเจตนาอย่างอื่นใดหรอก)

ทันทีที่อธิษฐานจบลง แปลกแท้ ๆ จระเข้หินจมตัววูบลงไปกบดานอยู่ใต้น้ำราวมีชีวิต อนุญาตให้หลวงปู่คำคะนิงลุยน้ำข้ามหลังมันไปโดยสะดวก จากนั้นก็คลานมุดเข้าไปในปากอุโมงค์ดำมืดนั้น ตอนนี้แสงเทียนยังจุดสว่างถือไว้อยู่ตลอดเวลา เทียนจะดับไม่ได้ เพราะแสงเทียนคือสิ่งบอกเตือนว่า อากาศในถ้ำมีพอหายใจหรือไม่

อุโมงค์ลาดต่ำลึกลงไปยาวประมาณสามสิบวาก็ทะลุถึงอีกคูหาถ้ำ เป็นถ้ำกว้างพอสมควรเพดานสูงโค้ง มีหินย้อยใหญ่น้อยทั้งยาวและสั้น สีต่าง ๆ เช่น น้ำตาลอ่อน ขาวนวล แดงและเหลืองรูปร่างแปลก ๆ คล้ายจีบม่านแพรเป็นริ้ว ๆ ก็มี คล้ายสายน้ำตกก็มี สลับซับซ้อนคล้ายตำหนักที่เทพเจ้าสร้างไว้เมื่อกระทบแสงไฟเทียนจะเกิดประกายระยิบระยับดุจโรยด้วยกากเพชร สวยงามวิจิตรพิสดารมาก

พุทโธคุ้มหัว
ตรงกลางถ้ำมีสิ่งมีชีวิตร่างหนึ่งตระหง่านอยู่ ทำให้หลวงปู่คำคะนิงต้องตะลึงจังงัง สิ่งมีชีวิตนั้นคือ "พญางู" ตัวหนึ่งใหญ่เท่าต้นตาล ดำมะเมื่อมเลื่อมพราย ชูคอขึ้นสูงท่วมหัว นัยน์ตาเขียวเปล่งประกายเจิดจ้าคล้ายแสงมรกต
จ้องมองมายังหลวงปู่คำคะนิงอย่างน่าสะพรึงกลัว เป็นพญางูที่ไม่มีหงอน

หลวงปู่คำคะนิงเล่าถึงตอนนี้ว่า ท่านไม่รู้สึกหวาดกลัวมัน แต่ขนลุกซู่ซ่าไปหมดจะกลัวไม่ได้ ถ้านึกกลัวจะเป็นอันตราย ต้องกำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกภาวนา พุทโธ ๆๆ ท่องพุทโธตัวเดียวนี้แหละคุ้มครองได้หมด พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์รวมลงอยู่ที่พุทโธตัวเดียวนี้แหละ "พุทโธ" ตัวเดียวเป็นพระคาถาศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในสากลโลกนี้ จำไว้ให้ดี คาถาของหลวงปู่มี "พุทโธ" ตัวเดียว ใช้ได้ทุกอย่างแล้วแต่จะอธิษฐานเอา

เมื่อหลายปีมาแล้ว หลวงปู่อยู่ในถ้ำ พวกผู้ร้ายห้าหกคนมันมาปล้น มันคิดว่าหลวงปู่ร่ำรวยเพราะญาติโยมมาหามาก มันเอาปืนอาก้าจ่อยิงหัวหลวงปู่นะ หลวงปู่หลับตาภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ตัวเดียวนี้แหละ มันยิงกันใหญ่ ปืนมันไม่ลั่นเลย หลวงปู่ก็บอกมันว่า เอาเลยยิงให้หลวงปูตายเลย ถ้าเราเคยมีเวรกรรมต่อกัน แต่มันก็ยิงหลวงปู่ไม่ออกเพราะพุทโธตัวเดียวแท้ ๆ คุ้มครอง พวกมันก็พากันหนีไป แล้วตำรวจก็จับได้

หลวงปู่คำคะนิงกล่าวและประสิทธิ์พระคาถานี้ให้กับข้าพเจ้าและผ่านมายังท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านครับ เมื่อกำหนดจิตกาวนาพุทโธ ๆ ๆ แล้ว หลวงปู่คำคะนิงได้พูดขึ้นกับพญางูดัง ๆ ว่า

"อาตมาภาพถือสัจจะที่เข้ามานี้ มาขอดูชมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมืองของท่าน ถ้ามีอะไรก็ขอดูชมให้สนใจเพื่อเป็นวาสนาบุญตาด้วยเถิด ขอดูชมเฉย ๆ ไม่เอาไปหรอก.."

((( โปรดติดตามตอน อุโมงค์แก้วใต้โขง )))

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved