ตามรอยพระพุทธบาท

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 3)
webmaster - 11/2/08 at 13:59

(Update 14 ก.ย. 51)



« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 3

ความเห็นทางด้าน "พุทธศาสตร์"

คำถาม : บั้งไฟพญานาคที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดขึ้นประจำทุกปีในวันออกพรรษาขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ โดยมีความเชื่อว่าลูกไฟที่ปรากฏนั้นเกิดจากอิทธิฤทธิ์ของพญานาคที่บูชาพระพุทธเจ้านั้นจริงหรือไม่? และพญานาคมีจริงหรือ?

คำตอบ : เรื่องนี้มีผู้ถกเถียงกันมาก แบ่งตามความเชื่อได้เป็น ๓ พวก ดังนี้
๑. นักนึก นักคิด เชื่อว่ามีคนไปแอบจุดบั้งไฟ จุดพลุ หรือยิงปืน
๒. นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกิดมีกรด มีแก๊สบางชนิด ลอยขึ้นมาแล้วแล้วทำปฏิกิริยากับธาตุเบาบางชนิด แล้วเกิดเป็นลูกไฟขึ้น
๓. ชาวบ้านและผู้มีศรัทธา เชื่อสืบทอดกันมาว่า พญานาคที่อาศัยอยู่ในพิภพนาคใต้แม่น้ำโขง จุดบั้งไฟบูชาพระรัตนตรัย

ในข้อแรก ถ้ามีคนไปแอบจุดบั้งไฟ จุดพลุหรือยิงปืน ย่อมเกิดเสียงระเบิดและจะไปจุดในน้ำได้อย่างไร? ของจริงนั้นพุ่งขึ้นจากกลางแม่น้ำและไม่มีเสียงระเบิด

ในข้อที่สอง ถ้าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ย่อมเกิดวันใดก็ได้ เมื่อใดก็ได้ หรือที่ไหนก็ได้ แต่นี่จะเกิดเฉพาะวันออกพรรษา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เท่านั้น วันอื่นไม่เกิด

เมื่อสองข้อที่กล่าวมานั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นในข้อที่ ๓ ก็น่าพิจารณา ถ้าพญานาคไม่มีแล้วเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?? พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องพญานาคไว้มากมายในพระไตรปิฎก!!

๔. จากข้อ ๓ ถ้าพญานาคมีจริง เปรียบเทียบพญานาคกับมนุษย์ ใครมีบุญมากกว่ากัน?


ตอบ : พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องนาคไว้ดังนี้:-
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กำเนิดของนาคมี ๔ จำพวกคือ เกิดจากไข่ ๑, เกิดจากครรภ์ ๑, เกิดจากที่ชื้นแฉะ ๑, และเกิดจากการผุดเกิด(โอปะปาติกะ) ๑ นาคทั้ง ๔ จำพวกนี้ จะมีความประณีตแตกต่างกันตามลำดับ โดยนาคจำพวกที่ผุดเกิดประณีตที่สุด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกนาคมีความคิดว่า เมื่อก่อนเราทำกรรมทั้งสอง (สุจริตและทุจริต) ด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปจึงเข้าถึงความเป็นสหายของพวกนาค พวกใดพวกหนึ่งใน ๔ จำพวก ถ้าพวกเราประพฤติสุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อพวกเราตายไปจะเข้าถึงสุคติสวรรค์ เชิญพวกเรามาประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ กันเถิด”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำกรรมทั้งสอง (สุจริตและทุจริต) ด้วยกาย วาจา ใจ เขาได้ฟังมาว่า พวกนาคมีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก เขามีความปรารถนาว่า เมื่อตายไปขอเราจงเข้าถึงความเป็นสหายของพวกนาคเกิดจากไข่ ( ....เกิดจากครรภ์, ....เกิดจากที่ชื้นแฉะ, ....เกิดโดยผุดเกิด) เถิด เขาจึงให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ของหอม เครื่องสำอาง ที่นั่งที่นอน ที่พักอาศัย และอุปกรณ์แสงสว่าง เมื่อเขาตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกนาคจำพวกเกิดจากไข่ ( ....เกิดจากครรภ์, ....เกิดจากที่ชื้นแฉะ, ....เกิดโดยผุดเกิด)”

(พระไตรปิฎก นาคสังยุต เล่ม ๑๗ หน้า ๒๘๖)

นาค ๔ จำพวกนั้น พวกที่ผุดเกิดหมายถึง พญานาค เป็นพวกที่มีกายทิพย์ มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม เสวยสุขในทิพย์สมบัติ มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก สามารถเนรมิตกายเป็นมนุษย์ได้ อาศัยอยู่ในพิภพนาคใต้บาดาล (ใต้แม่น้ำต่างๆ)
พญานาคชนิดนี้จึงมีบุญมากกว่ามนุษย์ แต่ในพิภพนาคไม่อาจจะประพฤติพรหมจรรย์ได้ เพราะมากล้นไปด้วยกามคุณ ๕ ดุจเทวดา ดังนั้นพระโพธิสัตว์เมื่อเกิดเป็นพญานาค จึงต้องขึ้นจากพิภพนาคมาประพฤติพรหมจรรย์บนโลกมนุษย์ หรืออธิษฐานให้เกิดเป็นมนุษย์เพื่อจะได้ประพฤติพรหมจรรย์

เรื่องของพญานาค พระพุทธเจ้าตรัสไว้มากในพระไตรปิฎก จะยกมาเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ดังนี้:-
พระพุทธเจ้า ของเราเมื่อยังสร้างบารมีในอดีตชาติ เคยเสวยพระชาติเป็นพญานาคหลายครั้ง เช่น จัมเปยยะนาคราช, ทัททระนาคราช, ปัณฑระกะนาคราช, และภูริทัตนาคราช เป็นต้น

ในสัปดาห์ที่ ๖ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงประทับ นั่งอยู่ใต้ต้นอัชปาละนิโครธ ขณะนั้นเกิดฝนตกและมีพายุแรง พญานาค มุจลินท์ ได้ขึ้นมาจากสระมุจลินท์ มาขนดกายรอบพระองค์ ๗ รอบ และแผ่พังพานปิดด้านบนเหนือพระเศียรเพื่อปกป้อง ลม ฝน เหลือบ ยุง แก่พระองค์ครบ ๗ วัน จนฝนและพายุหมดแล้ว พญานาคมุจลินท์ จึงได้เนรมิตกายเป็นชายหนุ่มยืนไหว้พระองค์อยู่

อีกเรื่องหนึ่ง มีพญานาคตนหนึ่งอยากบวชเป็นพระภิกษุ จึงเนรมิตกาย เป็นมนุษย์แล้วมาขอบวชกับพระภิกษุสงฆ์ เมื่อบวชแล้ววันหนึ่งนอน หลับเผลอสติ ร่างจึงกลับกลายเป็นพญานาคนอนเหยียดยาวอยู่ในกุฏิ พระภิกษุ ทั้งหลายเห็นแล้วตกใจกลัวจึงพากันไปกราบทูลพระพุทธเจ้า

พระองค์ทรงตรัสเรียกพญานาคตนนั้นเข้าเฝ้าแล้วตรัสห้ามพญานาค บวชเป็น พระภิกษุ พญานาคตนนั้นได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าพระองค์ห้ามพญานาคบวชก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้พระองค์จงทรง ให้เรียกผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุว่า นาค เถิดพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสให้พระภิกษุทั้งหลายเรียกผู้ที่จะบวชว่า นาค ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา

เป็นที่น่าสลดใจ เมื่อเปิดพจนานุกรมพุทธศาสน์ ซึ่งเขียนโดยพระภิกษุผู้มีชื่อเสียงที่ใครๆ ยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนาองค์หนึ่ง ท่านกล่าวเรื่องนาคไว้ดังนี้

“นาค คือ งูใหญ่ในนิยาย, ช้าง, ผู้ประเสริฐ, ใช้เป็นคำเรียกคนที่กำลังจะบวชด้วย” ท่านกล่าวไว้แค่นี้

เมื่อพระศาสดาตรัสเป็นหลักเป็นฐานไว้มากมายในพระไตรปิฎกเช่นนี้ ท่านยังกล่าวว่า “นาค คือ งูใหญ่ในนิยาย” ท่านย่อมได้ชื่อว่า กล่าวตู่พระพุทธพจน์ คัดค้านพระธรรมวินัย ลบล้างพระธรรมวินัย

ที่มา - เว็บ watkhaohinturn.net


กันชะตา ถาม : อยากทราบเรื่องราวความเป็นมาของพญานาค? นาคนี้มาจากไหน มีแหล่งกำเนิดจากที่ใด นาคในตำนาน และนาคตามคติความเชื่อของมนุษย์

Amon T ตอบ : พญานาค งูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และ บันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

งูใหญ่ หรือพญานาค เรามักจะพบเห็น เป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่าง ๆบันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนาภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมาย และ นครวัดมหาปราสาท ถ้าเราจะสังเกต ก็คงจะเป็นที่ศาสนาพุทธ ทำไมมีเรื่องราวพญานาคมาเกี่ยวข้องมาก ติดตามกันต่อไป

พญานาค หรือ งูใหญ่มีหงอน ในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย ตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ ชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่าง ๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น "อนันตนาคราช" ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพรามณห์

ที่เชื่อว่า "นาค" เป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว แปลว่า น้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ไร่นา ถ้าปีไหน นาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อย ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตูการณ์ เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้

นาค…เจ้าแห่งงู หรือ พญานาค


"คลิก" ขยายภาพ

พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า "เกิดบนบก" จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า "เกิดจากน้ำ" จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น

พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฎเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม

พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน

พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพเทวาอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์

พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร

สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น ๆ จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี

จะได้ยินอยู่เสมอว่า ปีนี้นาคให้น้ำเท่าไร กี่ตัว ฝนฟ้าดี หรือไม่ดี นาคให้น้ำสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิตทั้งปวง พญานาค ที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ใต้น้ำ ตามคติฮินดู พญาอนันตนาคราช แท่นบรรทมของพระนารายณ์ ที่นับถือเป็นเทพเจ้า พญานาค เปรียบได้กับท้องน้ำทั้งหลายในจักรวาล นาคมีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกก็ได้ ตลอดจนสามารถแปลงกายเป็นเมฆฝนได้ พญานาค...เป็นที่มาของแม่น้ำต่าง ๆ อันหมายถึงผู้รักษาพลังแห่งชีวิตทั้งหลาย

ตามความเชื่อของชาวพุทธ เทวดาแห่งน้ำ คือ "วรุณ" และ "สาคร"
ที่ต่างก็เป็นจอมแห่งนาคราช นอกจากที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนโลกแล้ว นาคยังเกี่ยวข้องกับน้ำในสวรรค์อีกด้วย คนโบราณเชื่อว่า สายรุ้ง กับ นาค เป็นอันเดียวกัน ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ข้างหนึ่งของรุ้งจะดูดน้ำจากพื้นโลกขึ้นไปข้างบน เมื่อถึงจุดที่สูงสุดก็จะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝนที่มีลำตัวของนาคเป็นท่อส่ง

ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้านเป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช

ที่เห็นได้ชัดก็คือที่ ปราสาทพนมรุ้ง จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ 4 ด้าน รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ นาคที่ราวบันได จึงมี "พญานาค" ซึ่งตามความเป็นจริง (ความเชื่อ) การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริง ๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ "พญานาค" ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

แม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่นของคนนักษัตร ปีมะโรง ที่มีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี "พญานาค" เป็นสัญลักษณ์

นาคให้น้ำ...พญานาค เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ "นาคให้น้ำ" เป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านรู้และเข้าใจดี ที่ใช้วัดในแต่ละปี จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคกลืนน้ำไว้ในท้อง

ที่มา - เว็บ garudathailand.com, เว็บ th.answers.yahoo.com/question/index, เว็บ kunkroo.com

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »