เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 32 ตอนจบ)
webmaster - 4/3/09 at 23:38
(Update 14 ต.ค. 51 วันออกพรรษา)
ตอนที่ 32 (ตอนจบ)
รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 20 (ตอนจบ)
สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต ตอนที่ 20 บ้านเกิดร่วมกัน
ออกอากาศเมื่อ : 2008-09-15
พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์
"......เรื่องราวอันน่าอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นในวันออกพรรษาของประเทศลาว ซึ่งช้ากว่าวันออกพรรษาของไทยหนึ่งวัน แต่บางปีก็มาพ้องตรงกัน เมื่อถึงวันนั้น
คลื่นมหาชนจำนวนมากจะหลั่งไหลไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อรอดูดวงไฟที่ลอยขึ้นมา
.......จากกลางลำน้ำโขง
ผู้เฒ่าผู้แก่ของพี่น้องชาวไทยลาวทั้ง ๒ ฝั่ง เล่าสืบต่อกันมาว่า ดวงไฟนั้นเป็น บั้งไฟพญานาค ที่ท่านบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยจิตที่เลื่อมใส
.......ครั้นเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยพุทธกาล ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม พอใกล้ถึงวันออกพรรษา เหล่าเทวดาก็โจษกันไปทั่วว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงจากดาวดึงส์ จนเสียงอื้ออึงโจษขานดังไปทั่ว พร้อมๆ กับเสียงดนตรีสวรรค์ดังไปถึงนาคพิภพ ทำให้อาสนะของพญานาคที่เคยอ่อนนิ่ม
กลับแข็งกระด้างขึ้นมา พญานาคและบริวารจึงออกมาจากนาคพิภพ ขึ้นไปอยู่บนผิวน้ำของแม่น้ำโขง สายตาก็มองไปบนท้องฟ้า
ตอนนั้นเมฆบนท้องฟ้าก็ยังฟูฟ่องล่องลอยอยู่เยอะแยะ แต่สักพักหนึ่งเมฆก็แวบหายไป ท้องฟ้าเริ่มเปิดออก มีลำแสงฉัพพรรณรังสีพุ่งออกมา ท้องฟ้ากลวงเข้าไป
เหมือนไม่มีท้องฟ้าในบริเวณนั้น คือท้องฟ้าเปิดจนมองเห็นสวรรค์ ในลำแสงนั้นก็จะเห็นเหล่าทวยเทพทั้งหลายในภพ ๓ เต็ม ไปหมดเลย ยกเว้นอรูปพรหม ๔ ชั้น
และอสัญญีสัตตาพรหม หรือพรหมรูปฟัก ที่ไม่ได้มา นอกนั้นมาหมดเลย
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ คอยอารักขา นาค ครุฑ ยักษ์ คนธรรพ์ โดยเฉพาะคนธรรพ์จะร้องรำทำเพลง ประโคม ดนตรีตลอด เวลา พลุสวรรค์หลากสี ดังเป็นเสียงดนตรีสวรรค์
ดอกไม้ทิพย์สวยสดงดงาม หอมฟุ้ง ตลบอบอวลไป ทั่วบริเวณสองข้างทาง ก็เต็มไปด้วยทวยเทพทุกชั้น เทพอัปสรเรียงกันลงมาเป็นกระบวน
ถัดจากนางเทพอัปสรก็จะมีเหล่าเทวดายืนเรียงรายกันเต็มไปหมดเลย มีบันไดทองคำใส บันไดแก้ว เพชร บันไดเงิน ทอดลงมาจากดาวดึงส์จนถึงพื้นโลกมนุษย์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอยู่ตรงกลางบันไดแก้วเพชรที่มีหลากสี ทั้งม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ตามหลังมาด้วย ปัญจสิกขเทวบุตร
และมาตุลีเทพสารถี ส่วนบันไดทองคำใสก็เป็นของเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีท้าวสุยามาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นยามา ถือพัดวีชนี ท้าวสักกเทวราชหรือ
พระอินทร์ถือปาริฉัตกะ ถัดมาก็ท้าวสันตดุสิต ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวนิมมานรมิต ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ถัดมาก็ท้าวปรนิมมิต
ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี และตามด้วยเหล่าเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลาย
บันไดเงินเป็นของพรหมผู้มีศักดิ์ใหญ่ ทั้ง ๑๖ ชั้น ซึ่งล้วนแต่งชุดขาว มีอานุภาพมาก ผู้มีศักดิ์ ใหญ่มากที่สุดก็อยู่ข้างหน้า เนรมิตฉัตรสีขาว ๙ ชั้น
ลอยอยู่เบื้องบน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งฉัพพรรณรังสี สว่างไสว เนรมิตพระวรกายให้ใหญ่ กว่าเทวดาและพรหม ในระดับที่มนุษย์เห็นพอดี
ใกล้หรือไกลก็เห็นเท่ากันด้วยพุทธานุภาพ
พญานาคพ่นบั้งไฟเป็นพุทธบูชา
".......เหตุการณ์ในวันนั้นไม่ใช่มนุษย์ทั่วโลกได้เห็นกันหมด แต่เห็นเฉพาะผู้มีบุญที่ สังกัสสะนคร เป็นเมืองที่เป็นเนิน
สามารถเห็นได้รอบทิศ ซึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี ในรัศมีแค่ ๓๖ โยชน์เท่านั้นแล้ว มนุษย์ที่เห็นวันนั้นก็มีหลายประเภท คือ ผู้ที่เลื่อมใสก็มี ที่เฉยๆ ก็มี
ไม่เลื่อมใสก็มี ที่เลื่อมใสมากก็เห็นมาก ที่เฉยๆ ก็เห็นหย่อนลงมา ที่ไม่เลื่อมใสก็เห็นมั่งไม่เห็นมั่ง
.......แต่พวกมีตาทิพย์กายละเอียดเขามองเห็น เทวดาก็เห็น แล้วนาคก็เห็น ท่านจึงเกิดกุศลศรัทธามาก
ได้เปล่งวาจาตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ดังนั้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พญานาคก็จะออกมาจากนาคพิภพมาจำศีลภาวนาใต้ลำน้ำโขง
ซึ่งท่านปรารถนาจะให้ใครเห็นหรือไม่เห็นก็ได้ด้วยอานุภาพของท่าน
(อธิบาย : รูปบั้งไฟ 1 ลูก) หลังจากที่ผมรอมานาน ก็ยังไม่มีบั้งไฟพญานาค ขึ้นมาให้เห็นโทรกลับมา ที่กรุงเทพฯ
ตรวจสอบเพื่อนที่ชมข่าว ก็ได้ความว่าไม่มีรายงานว่าใครเห็นเลย จึงตัดสินใจกลับเข้าที่พัก ในวันรุ่งขึ้น จะตรงกับออกพรรษาลาว ซึ่งเพื่อนชาวลาวของผม
ที่ได้โทรคุยกันก็มั่นใจว่าวันนี้ต้องขึ้นแน่นอน จึงตัดสินใจเดินทางมาชมอีกรอบ แต่วันนี้ผมไปชมที่บ้านปากสวยครับ
เวลาประมาณ 2ทุ่มครึ่ง ก็ปรากฏบั้งไฟลูกแรกขึ้นมา ดีใจมากเลยครับ อย่างน้อยก็ยังไม่ถึงกับไม่มี คราวนี้เลยต้องตั้งหน้าตั้งตารอ ในที่สุด ประมาณ 3
ทุ่มเศษ นั้น ก็ได้มีขึ้นอีกลูกหนึ่ง คราวนี้ถ่ายไว้ได้ทัน จึงๆ ได้ภาพกลับมาฝากทุกท่านสมใจ ผมนั่งรอต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีขึ้นมาอีกเลย
จึงตัดสินใจกลับเข้าที่พัก เพราะนอนดึกทุกวันเลยครับ..ไม่ไหว
ที่มา - www.travelfortoday.com/scoopmaekhongfullmoon.htm
การพ่นไฟของนาคนั้นมีหลายลักษณะ ถ้าพ่นเพราะความโกรธจะพ่นอย่างร้อนแรงโดนที่ไหนก็พังที่นั่น แต่ก็พ่นไม่ได้ทุกตัว ปริมาณที่พ่นไฟก็ไม่เท่ากัน
แล้วแต่ฤทธิ์ของใคร ใครมีบุญมากมีฤทธิ์มากก็พ่นได้มาก หรืออีกแบบหนึ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ ในพระไตรปิฎกว่า บังหวนควัน คือจะพ่นควัน ที่มีไอร้อนออกมา
ส่วนการพ่นไฟเป็น ประทีป บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พญานาคต้องประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนตลอด ๑ พรรษา แล้วก็ระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน
วันเทโวโรหณะ ที่เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ด้วยใจที่ปลื้มปีติ แล้วพ่นไฟที่กลั่นจากใจใสๆ ลอยขึ้นไปในอากาศ แล้วอธิษฐานว่า ด้วยอานิสงส์ นี้
ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เมื่อเป็นฟองอยู่ใต้น้ำก็กลม ๆ เนื่องจากเป็นของกึ่งหยาบกึ่งละเอียด
ทำให้เวลาลอยพ้นน้ำขึ้นมา ผิวน้ำจะไม่กระเพื่อม คือ เหมือนผ่านอากาศแล้วลอยขึ้นไปสว่างวาบบนท้องฟ้า
ตอนแรกท่านก็มาตามลำพังตนเดียว ต่อมาลูกน้องบริวารเกิดศรัทธา ตามขึ้นมาจำศีลด้วย บั้งไฟที่ส่องสว่างขึ้นบนท้องฟ้า ช่วงสั้นบ้าง ยาวบ้าง ดวงโตบ้าง
ดวงเล็กบ้ าง แล้วแต่อานุภาพของแต่ละท่าน ใครกำลังบารมีอ่อนก็พ่นได้ไม่กี่ดวง แล้วก็สูงไม่มาก แต่ของพญานาคจะสูงทีเดียว ด้วยเหตุนี้
บั้งไฟพญานาคจึงเกิดขึ้นในวันออกพรรษาทุกปี และเริ่มมีมากขึ้นตาม ห้วยหนองคลองบึงต่าง ๆ
วิธีชมบั้งไฟพญานาค : ทำบุญ สวดมนต์
นี่คือสิ่งที่เป็นอจินไตยที่เกิดขึ้นจริงด้วยจิตที่เลื่อมใสของพญานาค พญานาคท่านก็รู้จิตใจของมนุษย์ทุกคน ในทุกยุคที่ผ่านมาสองพันห้าร้อยกว่าปี
ว่ามนุษย์คิดกันอย่างไร ยุคต้นๆ มนุษย์มีจิตเลื่อมใสพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เชื่อมั่น ส่วนในยุคนี้ เชื่อก็มี เชื่อมั่งไม่เชื่อมั่งก็มี ไม่เชื่อเลยก็มี
แต่พญานาคท่านไม่สนใจ เพราะเอาใจไปอยู่กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลาปลื้มปกติ ไม่สนใจเสียงการละเล่นต่างๆ
ของมนุษย์ทั้งสองฝั่งริมโขงเลย ใครจะคิดตำหนิติเตียนหรือจะลบหลู่ ท่านก็เฉยๆ ไม่สนใจ ใจปลื้มอยู่ในบุญ เพราะท่านรู้ว่ามนุษย์ไม่เห็นวันนั้น
จะให้มาปลื้มอย่างท่านคงยาก
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวันมหาปวารณาของลาว หรือวันออกพรรษาของไทย เราจะเห็นดวงไฟลอยขึ้นมาจากลำน้ำโขงเป็น ประจำทุกปี ปีละครั้ง และมีที่นี่ที่เดียวในโลก
เพราะฉะนั้น ณ จุดตรงนี้ ถ้า หากว่าผู้มีบุญทั้งหลายได้ไปดูแล้ว ทำจิตให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างพญานาค เปลี่ยนวิธีการใหม่ แทนที่จะไปเถิดเทิง
กลองยาวหรืออะไรต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว ให้ลืมไปเสียให้หมด แล้วมาเริ่มใหม่ เริ่มกันตั้งแต่เช้ากันเลย นิมนต์พระมาให้ทั้งสองฝั่งไทยลาวได้ใส่บาตรกันในตอนเช้า
แล้วบำเพ็ญบุญกุศล ทาน ศีล ภาวนากันตลอดทั้งวัน
ตรงนั้นอย่าให้มีเหล้า สุราเมรัย บุหรี่หรือสิ่งไม่ดีต่างๆ ไม่ให้มีเลย ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดสะอ้าน ถนนหนทาง ให้สะอาดทีเดียว แล้วทำกาย วาจา ใจ
ของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส พูดปิยวาจา พอตกตอนพลบค่ำทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา สาธุชน นานาชาตินับแสนก็มาสวดมนต์
ระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัยพร้อมๆ กัน ทั้งสองฝั่งไทยลาว ซึ่งต่างก็เป็นเครือญาติกัน..ย่อมเป็นทางมาแห่งบุญ
และเป็นภาพที่นำมาซึ่งความชื่นชมของผู้คนที่ได้พบเห็นอย่างแน่นอน
ที่มา - www.kalyanamitra.org/
ที่มาของพญานาคแม่น้ำโขง
เรื่องราวของบั้งไฟพญานาค เริ่มเมื่อหลายพันปีก่อนสมัยพุทธกาล บนผืนแผ่นดินอันสะอาดบริสุทธิ์ของประเทศลาวในปัจจุบัน
ชาวเมืองเป็นผู้มีศีลมีธรรมมีจิตใจที่งดงาม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ดูแลมารดาบิดากันเป็นปกติ พระราชาผู้ปกครอง
บ้านเมืองทรงมีธรรมราชาครบถ้วน ๑๐ ประการ
แล้วก็มีปุโรหิตท่านหนึ่ง เป็นคนจิตใจงาม เป็นผู้มีปัญญามาก เวลาจะตัดสินคดีความอะไรก็บริสุทธิ์ยุติธรรม ท่านชำนาญในไตรเพท
มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมบวงสรวงพญานาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพราะมีความเชื่อว่า นาค เป็นผู้ให้น้ำ ท่านก็ประกอบพิธีอย่างนี้ทุกปีๆ
จนกระทั่งหมดอายุขัย
ด้วยใจที่ผูกพันกับพญานาคมาก กอปรกับบุญกุศลที่ท่านปุโรหิตทำใน ระดับที่ดีของชาวโลก ในยุคที่พระพุทธศาสนายังไม่บังเกิดขึ้น
เมื่อละโลกแล้วท่านจึงไปเกิดเป็นพญานาค มีกายสีทองสวยงาม เป็นหัวหน้าปกครองชุมชน นาคในระดับล่าง อยู่ใต้ลำน้ำโขง ซึ่งจะเป็นภพซ้อนภพ มีอายุยืนมาก
พญานาคมีอยู่ ๓ ระดับ คือ ระดับล่าง ระดับกลาง ระดับสูง ระดับ สูงก็อยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ระดับกลางๆ ก็ลดหย่อนลงมา
ระดับล่างก็อยู่ในระดับพื้นมนุษย์ มีบ้านเมือง ที่สวยสดงดงามพอสมควร ท่านเป็นผู้ปกครองชุมชนนาคในละแวกลำน้ำโขงนั้น ซึ่งกว้างขวางมาก พญานาคท่านนี้
เมื่ออยู่ในเมืองนาคท่านจะแปลงกายเป็นกายทิพย์ ที่คล้ายๆ มนุษย์ มีเครื่องประดับงดงาม แล้วท่านปรารถนาพุทธภูมิมานาน ตั้งแต่ก่อนจะมาเกิดเป็นปุโรหิต
แม้มาเป็นปุโรหิตก็มีความรู้สึกเช่นนี้อยู่ลึกๆ ในใจ
ความเป็นมาของดินแดนและชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำสายและแม่น้ำโขง รวมถึงแถบลุ่มแม่น้ำกกนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ในรัชสมัย
พระยามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ทว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ก็พบว่ามีชุมชนเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว
มนต์ตราแห่งคำสาบ "เวียงโยนกนาคพันธุ์"
ก่อนกาลล่มสลายกลายเป็นทะเลสาบเชียงแสน
".........ความเป็นมาของดินแดนและชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำสายและแม่น้ำโขง รวมถึงแถบลุ่มแม่น้ำกกนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19
ในรัชสมัย พระยามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ทว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ก็พบว่ามีชุมชนเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก - โขง และชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง
.........เรื่องราวของกำเนิดชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก - โขงนั้น ปรากฏอยู่ในตำนานหลายฉบับ ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ต่างกล่าวไว้ว่า พระเจ้าเทวกาล เจ้าผู้ครองเมืองนครไทยเทศ (ราชคฤห์)
ได้ให้ราชบุตรแยกย้ายกันไปสร้างบ้านแปงเมือง สิงหนวัติกุมาร จึงได้นำผู้คนอพยพมาสร้างเวียงขึ้นในเขตลุ่มแม่น้ำกก ตำนานระบุว่า
พญานาค ได้มาช่วยสร้าง จึงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า "นาคพันธุ์สิงหนวัติ" หรือ "เวียงโยนกนาคพันธุ์"
มีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 45 พระองค์ รวมถึงการขับไล่พวกขอมออกไปจากพื้นที่
จนในที่สุดเวียงโยนกนาคพันธุ์ก็ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำ เนื่องด้วยชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกตัวเท่าต้นตาลในแม่น้ำกก และแบ่งปันกันกินทั่วเมือง
ตกกลางคืนเกิดฝนฟ้าคนอง แผ่นดินไหวเมืองจึงล่มเป็นหนองน้ำ กระทั่งปัจจุบันยังปรากฏหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้อำเภอเชียงแสนเรียกว่า เวียงหนอง
ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเดิมคือ เวียงโยนกนาคพันธุ์ ของพระเจ้าสิงหนวัติ บริเวณกลางหนองมีเกาะเรียก ดอนแม่ม่าย
ซึ่งพ้องตามตำนานที่ว่ามีแม่ม่ายรอดตายจากเมืองล่มอยู่เพียงลำพังคนเดียว เพราะไม่ได้ร่วมกินปลาไหลเผือกกับชาวเมืองคนอื่น ๆ
จาก พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน กล่าวถึงเมืองเวียงโยนกนาคพันธุ์ล่มไว้ว่า "ศักราชได้ปีเถาะ พุทธศาสนาล่วงได้ 1002 ปี
พระองค์มหาชัยชนะเป็นกษัตริย์แห่งเมืองโยนกได้ 5 ปี คนทั้งหลายไปแอ่วแม่น้ำกุกกนาดี ก็เห็นปลาเหยี่ยนเผือกตัวใหญ่เท่าลำตาลยาว 7 วา
เขาก็ปล่าวกันไปทุบเหยี่ยนเผือกตัวนั้นจนตายแล้วก็มีอาชญาให้ครัวแล้วแจกกันกินใคว่ทั้งเวียง
เมื่อถึงเวลาค่ำแล้วก็ปรากฏได้ยินเสียงแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหว...เมื่อนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั่น ก็ยุบลงเกิดเป็นหนองน้ำใหญ่ คนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น
มีกษัตริย์เจ้าเป็นประธานเลยวินาศฉิบหายตกจมลงไปในน้ำทั้งหมดแล..."
พญานาคในเรื่อง "ท้าวมหาชมพู" หรือ ชมพูบดีสูตร
"........พระสูตรเรื่องนี้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาที่ วัดเวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ กล่าวถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนาม ชมพูบดี
เสวยราชย์ในเมืองปัญจาลราษฐ์ เมื่อพระเจ้าชมพูบดีปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ได้เกิดเสาทองสูง ๑๘ ศอก ในพระนคร
........ครั้นพระเจ้าชมพูบดีประสูติ ขุมทองในแผ่นดินก็ผุดขึ้นมา ขุมทองอันอยู่ปลายไม้ก็ตกลงมาสู่พื้นแผ่นดิน ขุมทองในน้ำก็ผุดขึ้นมาจากน้ำไปสู่ท่าเมือง
และฉลองพระบาทอันแล้วด้วยแก้วมณีโชติก็ลอยมาจากภูเขาวิบูลยบรรพตเข้ามาสวมพระบาทพระเจ้าชมพูบดีในขณะเมื่อประสูติจากครรภ์พระมารดา
........เมื่อประสูติแล้วพราหมณ์ได้พยากรณ์ว่า พระราชกุมารนี้จะได้เป็นใหญ่ในสกลชมพูทวีปและนาคพิภพ แล้วจึงถวายพระนามว่า "ชมพูบดี"
เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระเจ้าชมพูบดีทรงใช้ลูกศรเป็นราชทูตไปหาท้าวพระยาทั้งปวงในชมพูทวีปให้มาเฝ้า หากองค์ใดไม่มา
ลูกศรนั้นจะร้อยพระกรรณของกษัตริย์องค์นั้นมาสู่ที่ประทับของพระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีมีพระอัครมเหสีทรงพระนาม "กาญจนราชเทวี"
(สมเด็จองค์ปฐม "ปางทรมานพระยาชมพูบดี" ทรงเครื่องจักรพรรดิ
ณ วัดสิริเขตคีรี (วัดพระร่วงฯ) อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย)
อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าชมพูบดีทรงสวมฉลองพระบาทแก้วมณีโชติ แล้วเหาะไปถึงปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร ทรงดำริว่าใครเป็นเจ้าของปราสาทนี้
แล้วก็ทรงพระพิโรธยกพระบาทถีบยอดปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยอำนาจที่พระเจ้าพิมพิสารเป็นพุทธอุบาสก คุณนั้นก็คุ้มครองยอดปราสาทนั้นไว้
พระบาทและพระชาณุของพระเจ้าชมพูบดีกลับแตกโลหิตไหล
ครั้นพระเจ้าชมพูบดีทรงเอาพระแสงขรรค์ฟันยอดปราสาท ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า เทวดาก็บันดาลให้พระขรรค์นั้นบิ่นไปอีก
พระเจ้าชมพูบดีจึงเดินทางกลับมาถึงเมือง แล้วใช้ให้วิษศรเหาะไปร้อยพระกรรณพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารตกพระทัยเสียงวิษศรที่ดังมาในเวหา
ทรงหนีไปสู่เวฬุวนาราม พระพุทธเจ้าจึงทรงใช้จักรไปทำลายวิษศร วิษศรสู้พุทธจักรไม่ได้ก็หนีไปถึงปราสาทพระเจ้าชมพูบดี พุทธจักรจึงกลับไป
ต่อมา พระเจ้าชมพูบดีให้ฉลองพระบาทเป็นพญานาคราชไปจับพระเจ้าพิมพิสารกลับมาอีก แต่เมื่อพญานาคไปถึงวัดเวฬุวนาราม
พระพุทธเจ้าจึงทรงเนรมิตพญาครุฑให้เข้าต่อสู้ด้วยพญานาค นาคราชทั้งสองมิอาจต่อฤทธิ์ได้ก็แทรกแผ่นดินหนีไป พระเจ้าชมพูบดีเห็นดังนั้นก็เสียพระทัย
ฝ่ายพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าพระเจ้าชมพูบดีมีวาสนาปัญญา อาจสำเร็จพระอรหันตผลได้
จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสเรียกพระอินทร์ให้เป็นราชทูตไปหาตัวพระเจ้าชมพูบดีมาเฝ้า พระอินทร์เหาะไปถึงเมืองปัญจาลราษฐ์ เมื่อถึงแล้วก็ตรัสกับพระเจ้าชมพูบดีว่า
เหตุใดพระเจ้าชมพูบดีจึงไม่แต่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายบังคมพระเจ้าราชาธิราช บัดนี้พระเจ้าราชาธิราชให้เรามาเป็นราชทูตมาหาตัวท่านไปเฝ้า
พระเจ้าชมพูบดีได้ฟังดังนั้นก็ทรงพระพิโรธ ทรงเอาวิษศรขว้างไปที่ราชทูต ราชทูตก็เนรมิตจักรอันหนึ่งขว้างมา วิษศรสู้ไม่ได้ก็หนีไปเข้าแล่ง
พระเจ้าชมพูบดีลุกหนี ราชทูตบอกว่าให้พระเจ้าชมพูบดีไปเฝ้า พระเจ้าชมพูบดีไม่ยอมไป ราชทูตจึงให้จักรนั้นเข้าติดพันพระบาทพระเจ้าชมพูบดีจนตกจากพระแท่น
พระเจ้าชมพูบดีสู้ไม่ได้ ถูกจักรลากไปได้รับทุกขเวทนา จึงขอผัดว่าวันรุ่งขึ้นจะไปเฝ้าพระเจ้าราชาธิราช แล้วราชทูตก็กลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาให้พระยากาฬนาคราชเนรมิตแม่น้ำและตลาดบกตลาดน้ำ ในหนทางที่พระเจ้าชมพูบดีจะเดินทางมา
แล้วทรงบันดาลให้เวฬุวันกลายเป็นมหานครใหญ่ มีกำแพงเจ็ดชั้น ให้พระยาครุฑเป็นนายช่างทอง ให้ช้างฉัททันต์มาอยู่ในโรงช้าง ม้าพลาหกมาอยู่ในโรงม้า
มีนกกรวิกและนกแขกเต้านำบุปผชาติมาโปรยในพระนคร ฝูงกินนรกินรีมาขับร้องร่ายรำ
ส่วนพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตวิมาน แล้วทรงเนรมิตพระองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราชประทับอยู่เหนือบัลลังก์ในปราสาท มีท้าวมหาพรหมยืนถือเศวตฉัตร
พระราหุลเป็นขุนคลัง พระสาวกเป็นพระยาประเทศราช พระอาทิตย์พระจันทร์เป็นนายทวาร พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ ทั้งยังมีตลาดต่างๆ
นางสุชาดาและบริวารขายทอง นางสุธรรมาขายเครื่องเงิน นางสุจิตราขายผ้า นางสุนันทาขายผลไม้ ฯลฯ
รุ่งเช้า พระเจ้าชมพูบดีประทับเหนือคอช้าง เสด็จพร้อมด้วยพระยาร้อยเอ็ดนคร ออกจากพระนครมาสู่สำนักแห่งพระเจ้าราชาธิราช เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ
จึงโปรดให้มาฆสามเณรไปย่นระยะทางและพาพระเจ้าชมพูบดีเข้ามา เมื่อใกล้จะถึงพระนคร มาฆสามเณรบังคับให้พระเจ้าชมพูบดีลงจากหลังช้าง พระเจ้าชมพูบดีไม่ยอม
มาฆสามเณรจึงเนรมิตกายใหญ่โตเข้าไสช้างจนล้มไปในที่นั้น พระเจ้าชมพูบดีจึงต้องเสด็จด้วยพระบาทเข้าไปยังพระนคร
ระหว่างทางที่พระเจ้าชมพูบดีเสด็จผ่าน พบเห็นนางนาคทั้งหลายที่เป็นแม่ค้าขายของในตลาดน้ำ แล้วไปถึงโรงทองของพญาครุฑ โรงช้างฉัททันต์ โรงม้าพลาหก
ทอดพระเนตรเห็นนกกรวิก นกแขกเต้า กินนร กินนรี ท้าวจตุมหาราชิกา อุทยาน สระโบกขรณี ตลาดขายเนื้อ ปลา ตลาดข้าวสาร ตลาดดอกไม้ ตลาดผลไม้ ตลาดผ้า ตลาดเงิน
ตลาดทอง ทอดพระเนตรเห็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ในที่สุดก็มาถึงที่ประทับของพระเจ้าราชาธิราช
พระเจ้าราชาธิราชแสดงฤทธิ์ต่อสู้กับพระเจ้าชมพูบดี พระเจ้าชมพูบดีสู้ฤทธิ์ไม่ได้จึงยอมแพ้
แล้วพระเจ้าราชาธิราชจึงกลับแสดงพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเทศนาจนพระเจ้าชมพูบดีเลื่อมใสออกผนวชและสำเร็จพระอรหันตผลในที่สุด
บรรดาข้าราชบริพารของพระเจ้าชมพูบดีจึงกลับไปถึงเมืองปัญจาลราษฐ์ นำเนื้อความไปทูลพระนางกาญจนเทวี พระอัครมเหสีของพระเจ้าชมพูบดี
และเจ้าศิริคุตรราชกุมารฟัง
พระนางกาญจนเทวีและเจ้าศิริคุตรราชกุมารจึงเดินทางมายังวัดเวฬุวนาราม ขอพบกับพระชมพูบดีเถระ พระพุทธเจ้าให้นางพิจารณาดู
ก็เห็นเป็นพระชมพูบดีเถรทั้งสิ้น ไม่รู้ว่ารูปใดคือชมพูบดี พระพุทธเจ้าจึงให้นางกาญจนเทวีเรียกจึงได้รู้ว่าเป็นองค์ใด
นางกาญจนเทวีได้เข้านมัสการพระชมพูบดีเถระแล้ว พระนางจึงขอบวชในสำนักพระพิมพาเถรี ส่วนเจ้าศิริคุตรได้บรรพชาในสำนักพระชมพูบดีเถระ
ก็สำเร็จพระอรหันตผลทั้งสิ้น
เนื้อความในพระชมพูบดีสูตรมีเพียงเท่านี้
สรุปบทวิเคราะห์จากทีมงาน "เว็บตามรอยพระพุทธบาท"
".......เรื่องนี้..ถ้าผู้จัดทำไม่มีความเห็น คงจะเสียชื่อแน่นอน เพราะคณะทีมงาน "ตามรอยพระพุทธบาท" ได้ใช้เวลาเดินทางสำรวจทั่วประเทศ
มีทั้งรอยพระบาทและพระบรมธาตุเจดีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่ปรากฏ บั้งไฟพญานาค นั้น
.........โดยแต่ละปีจะปรากฏขึ้นประมาณ 3-7 วัน มากกว่า 90% ของจำนวนลูกบั้งไฟพญานาคในแต่ละปี จะพบที่จังหวัดหนองคาย หน้าวัดไทย และบ้านน้ำเป อำเภอโพนพิสัย
วัดอาฮง อำเภอบึงกาฬ วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ และอ่างปลาบึก อำเภอสังคม) ซึ่งปรากฏว่าตรงกับตำแหน่งที่มี รอยพระพุทธบาท
ปรากฏอยู่ด้วยทุกหนทุกแห่ง...!!!
และทุกคนที่ได้ศึกษาประวัติ "พญานาค" จะรู้จักในนาม "พญาศรีสุทโธนาคราช" แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นมีใครเคยเอ่ยนามถึง
"พญาสุกขหัตถีนาคราช" ผู้พิทักษ์ลุ่มน้ำโขง ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว บริเวณเมืองบริคำไซ อยู่ตรงข้ามกับอำเภอโพนพิสัย
1. แผนผังจุดที่เกิด "บั้งไฟพญานาค" ริมแม่น้ำโขง ระหว่างจังหวัดเลย - หนองคาย - นครพนม
2. แผนผังจุดที่เกิด "บั้งไฟ" ริมแม่น้ำโขง ณ บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
จะเห็นว่ามี "รอยพระพุทธบาท" ทั้งสองฝั่งโขง
รายชื่อรอยพระพุทธบาท (กรุณาดูควบคู่กับแผนที่)
ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ทางฝั่งประเทศลาว
๑. วัดพระพุทธบาทโพนฉัน เมืองท่าพระบาท แขวงบริคำไซ (ตรงข้าม อ.โพนพิสัย)
๒. พระพุทธบาทบ้านสุละ (รอยเกิบ) แขวงจำปาศักดิ์ (ตรงข้ามผาแต้ม จ.อุบลฯ)
รายชื่อรอยพระพุทธบาท (กรุณาดูควบคู่กับแผนที่)
ที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ทางฝั่งประเทศไทย
๑. วัดพระพุทธบาท ต.พระบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (ใกล้วัดหินหมากเป้ง - หลวงปู่เทสก์)
๒. พระพุทธบาทกุญชร บ.ห้วยไฮ้ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๓. วัดสร้างฤาษี บ.ศูนย์กลาง ต.ด่านศรีสุข อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๔. วัดพระพุทธบาทนาหงส์ บ.พระบาทนาหงส์ ต.พระบาทนาหงห์ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
๕. วัดพระพุทธบาทผาจ่อง ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย
๖. พระพุทธหัตถ์คู่ถ้ำฝุ่น หน่วยพิทักษ์ป่าถ้ำฝุ่น อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย
๗. พระพุทธบาท วัดถ้ำศรีวิไลย์ บ.โนนสว่าง ต.หนองแข็ง อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย
๘. พระพุทธบาท วัดถ้ำศรีธน (สว่างอารมณ์) ต.ปากคาด อ.ปากคาด จ.หนองคาย
๙. พระพุทธบาทภูควายเงิน อ.ปากคาน จ.เลย
๑๐. พระพุทธหัตถ์วัดป่าดานเทพนิมิต ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย
๑๑. พระพุทธบาทหลังวัดถ้ำจันทร์ ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย
๑๒. พระพุทธบาทถ้ำแคน ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย
๑๓. วัดพระพุทธบาทเวินปลา ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
๑๔. พระพุทธบาท วัดป่าภูจ้อมก้อม ต.นากลางโพธิ์ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
๑๕. พระพุทธบาท วัดท่าล้ง บ้านท่าล้ง (ใกล้ผาแต้ม) ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี
เส้นทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จ
เลียบแม่น้ำโขง ระหว่างไทย - ลาว
ตามประวัติก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปที่พระธาตุพนม พระองค์ได้เสด็จไปที่เวียงจันทน์ก่อนคือ
"ดอนกอนเนา" (วัดโพนพระเนา) และ
"หนองคันแทเสื้อน้ำ" (พระธาตุหลวง) ในเมืองเวียงจันทน์
พระrพุทธบาทโพนฉัน (ริมแม่น้ำโขง) ฝั่งประเทศลาว
แล้วพระพุทธองค์ได้ไปประทับที่ โพนจิกเวียงงัว (ธาตุบุ) และ ภูเขาลวง (พระธาตุบังพวน) แล้วไปฉันเพลที่ใกล้ เวินหลอด
คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั่นว่า เวินเพล เมื่อฉันเพลแล้ว พญาสุกขหัตถีนาคราช เนรมิตเป็นช้างถือดอกไม้มาขอรอยพระพุทธบาท
พระองค์ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่แผ่นหินใกล้ริมแม่น้ำ ชั่วเสียงช้างร้องได้ยิน บัดนี้เรียกว่า พระบาทโพนฉัน แขวงบริคำไซ
ประเทศลาว (ตรงข้ามกับ บ้านโพนแพง อ.โพนพิสัย)
พระบาทเวินปลา (ริมแม่น้ำโขง) จ.นครพนม
แต่นั้นพระองค์ก็เสด็จไปสู่เมืองศรีโคตบอง (นครพนม) มีพญาปลาตัวหนึ่งได้เห็นพระรัศมีของพระพุทธเจ้า จึงมาวนเวียนขอรอยพระพุทธบาทไว้สักการบูชา
พระพุทธองค์จึงทรงพระเมตตาอธิษฐานรอยพระพุทธบาท ไว้บนก้อนหินในน้ำที่นั้น คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั้นว่า พระบาทเวินปลา
มาเท่ากาลบัดนี้
พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต ประเทศลาว
ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จมาทางอากาศ ประทับแรมที่ ภูกำพร้า (พระธาตุพนม) หนึ่งคืน ตอนเช้าจึงเสด็จไปอิงต้นรังต้นหนึ่ง
(พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต ประเทศลาว) แล้วเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองศรีโคตบอง
ครั้งนั้น เจ้าเมืองศรีโคตบองมีนามว่า พระยาศรีโคตบูร ได้เห็นพระศาสดาเสด็จมาดังนั้น
จึงทูลอาราธนาให้พระองค์เข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชฐาน เมื่อองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ทรงรับข้าวบิณฑบาตแล้ว ก็ส่งบาตรให้พระยาศรีโคตบูร
เพื่อเสด็จมาประทับที่ใต้ต้นรังดังเดิม
ฝ่ายเจ้าเมืองเมื่อรับเอาบาตรจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ยกขึ้นเหนือพระเศียรทำความปรารถนา แล้วจึงนำบาตรไปถวายพระองค์ที่ประทับอยู่
พระพุทธองค์ทรงรับบาตรแล้วเสด็จกลับมาทางอากาศที่ภูกำพร้า เพื่อกระทำภัตกิจ ณ สถานที่นั้น
เมื่อพระยาศรีโคตบูรได้ทอดพระเนตรพระพุทธองค์เสด็จไปทางอากาศดังนั้น ก็ทรงปีติยกพระหัตถ์ขึ้นประนมทอดพระเนตรพระศาสดาจนสุดสายตา จึงคำนึงในพระทัยว่า
อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ดังนี้แล้ว จึงเสด็จกลับคืนสู่พระราชนิเวศน์
ต่อจากนั้น พระศาสดาก็ได้พยากรณ์ว่า หลังจากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระมหากัสสป จะนำ พระอุรังคธาตุ
มาบรรจุไว้ที่นี้ ตรัสดังนี้แล้วจึงเสด็จไปสู่เมืองหนองหารหลวง แล้วประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ พระธาตุเชิงชุม
จ.สกลนคร
แล้วจึงเสด็จต่อไปที่ ดอยแท่น (พระธาตุภูเพ็ก) แล้วไปทรมานพญานาคที่ ภูกูเวียน ได้ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ
พระพุทธบาทบัวบก, พระพุทธบาทบัวบาน, พระพุทธบาทผาแดง (อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี) เป็นต้น
ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาภูพาน (ภูกูเกวียน) นี้ว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคชื่อ สุวรรณนาคราช และ พุทโธปาปนาคราช
ซึ่งแต่เดิมหนีจาก หนองแส (ตาลีฟู) มาตามลำน้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้
ซึ่งเรื่องนี้ยังมีปรากฏอยู่ใน "ตำนานพระธาตุเชิงชุม" อ.เมือง จ.สกลนคร อีกว่า
ในขณะนั้น พญาสุวรรณนาคราช ผู้มีเกล็ดเป็นทองคำก็สำแดงตัวให้ปรากฏ ถือน้ำเต้า ทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอมอันเป็นทิพย์บอกว่า
ข้าพเจ้าคือ "สุวรรณนาคราช" เป็นผู้เฝ้าพิทักษ์รอยพระพุทธบาทอยู่ที่ภูน้ำรอดนี้
ดังนี้แล้วจึงเอาน้ำหอมรดสรงอภิเษก เจ้าภิงคาร ให้เป็นพระยาเสวยเมืองมีชื่อว่า พระยาสุวรรณภิงคาร
แล้วพระบาทท้าวเธอจึงพาไพร่พลสร้างเมืองขึ้น ณ ที่นั้นเรียกว่า "เมืองหนองหารหลวง" สืบมา
(หมายเหตุ : พระธาตุเชิงชุม เดิมชื่อ "ภูน้ำรอด" เมืองหนองหารหลวง คือ เมืองสกลนคร ในปัจจุบันนี้)
ขอเล่าเรื่องต่อไปอีกว่า ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มาประทับรอยพระพุทธบาท ณ พระธาตุเชิงชุม
แล้วจึงได้เสด็จกลับคืนมาประทับที่ ภูกูเวียน ทรงเปล่งรัศมีให้เข้าไปในเมืองนาคปู่เวียน ขณะนั้น สุวรรณนาคราช
ได้เห็นพระรัศมี จึงออกมาจากแม่น้ำขึ้นไปสู่บนยอดเขา แล้วพ่นพิษออกมาเป็นควัน เขาลูกนั้นก็มืดมัวไปทั้งสิ้น
พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตเป็นเปลวไฟ ทำให้สุวรรณนาคราชกระเด็นไปในน้ำปู่เวียน เปลวไฟได้ผุดแต่พื้นน้ำขึ้นมาไหม้เมืองนาค ตลอดไปถึงหนองบัวบาน
ซึ่งเป็นที่อยู่ของ พุทโธปาปนาคราช นาคทั้งหลายมาล้อมภูกูเวียนนั้นไว้ แล้วพ่นเปลวไฟขึ้นไปหาพระพุทธองค์
แต่เปลวไฟนั้นก็พุ่งกลับคืนมาไหม้นาคทั้งหลาย แล้วกลับไปบังเกิดเป็นดอกบัวบูชาพระ ตถาคตเป็นที่อัศจรรย์ จากนั้นจึงทรงสั่งสอนหมู่นาคเหล่านั้น
ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ตลอดไป
และใน ตำนานพระพุทธบาทภูควายเงิน เล่าว่า สถานที่นี้เป็นที่อยู่ของ มลินทนาคราช ผู้เป็นน้องของ
พุทโธปาปนาคราช คือหลังจากที่ตนเองเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ขอให้พระพุทธเจ้าไปโปรดน้องด้วย
ต่อมามลินทนาคราชได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว
มีความปรารถนาจะบวช แต่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไว้ แล้วได้ประทานรอยพระพุทธบาทลงบนแผ่นหินภูเขา มีบาลีว่า
มลินทะนาคราชา ยะจิตโต โคตมะ พุทธเชษฐัง ปาทะวะรัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
เสด็จไปหลวงพระบาง
ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์จึงเสด็จไปสู่ ดอยนันทกังรี (หลวงพระบาง) ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางนันทยักษ์ แต่ก่อนมีพญานาคตัวหนึ่ง ๗
เศียร ชื่อว่า ศรีสัตตนาค เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาทรงย่ำรอยพระบาทไว้
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็เสด็จย่ำพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ทรงก้าวพระบาทข้ามตีนดอยข้างขวา แล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงกราบทูลถาม
พระศาสดาจึงตรัสว่า
..เราเห็นนาค ๗ หัวเป็นนิมิต ต่อไปภายหน้านี้ จักบังเกิดเป็นเมืองมีนามว่า เมืองศรีสัตตนาค และที่พญานาคได้ให้ความสวัสดีแก่
พระยาจันทบุรี (เจ้าผู้นครเวียงจันทน์สมัยนั้น) จักร้างเสื่อมสูญไป...
ตรัสดังนี้แล้วจึงเสด็จลงไปไว้รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายที่แผ่นหินอันจมอยู่ในกลางแม่น้ำ ซึ่งคนทั้งหลายไม่สามารถจะมองเห็นได้
แล้วจึงเสด็จไปบนดอยนันทกังรี อธิษฐานให้เป็นรอยพระบาททับหงอนนาคไว้ ซึ่งพญาศรีสัตตนาคได้สมมุติดอยนันทกังรีให้เป็นหงอนแห่งตน
เพื่อมิให้ท้าวพญาในเมืองนั้นทำยุทธกรรมกัน จักแพ้พระพุทธศาสนาบ้านเมืองแล้ว พระศาสดาก็เสด็จกลับสู่กรุงสาวัตถี
เป็นอันว่าเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาตามที่พระอรหันต์บันทึกไว้ใน ตำนานพระธาตุพนม จะสรุปได้ว่าพระองค์เสด็จจากกรุงสาวัตถีมาสู่
เวียงจันทน์ ก่อนแล้วจึงเสด็จมาทางภาคอีสานของไทย ก่อนที่จะกลับก็ได้เสด็จไปประทับรอยพระพุทธบาทที่หลวงพระบาง
แล้วก็สรุปได้ว่า "ชื่อ" ของพญานาคราชที่ปรากฏอยู่ในตำนานนี้ มีรายชื่อดังต่อไปนี้
1. พญาศรีสุทโธนาคราช ผู้อารักขา "คำชะโนด" อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี
2. พญาสุวรรณนาคราช เป็นผู้อารักขา "ภูน้ำรอด" (พระธาตุเชิงชุม) และรักษา "ภูกูเกวียน"
(พระพุทธบาทบัวบก)
2. พญาพุทโธปาปนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทบัวบาน
3. พญามลินทนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทภูควายเงิน อ.ปากคาน จ.เลย
4. พญาสุกขหัตถีนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทโพนฉัน แขวงบริคำไซ ลาว
5. พญาปัพพาลนาคราช เป็นผู้อารักขา พระธาตุบังพวน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
6. พญาศรีสัตตนาคราช เป็นผู้อารักขา พระพุทธบาทภูสี เมืองหลวงพระบาง ลาว
เฉลยปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค" ได้แล้ว
รวมความว่า บทความที่ตั้งเอาไว้ว่า เหตุใดจึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษา โดยเฉพาะจุดที่สำคัญที่ อ.โพนพิสัย
ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะได้คำตอบเป็นอย่างดีแล้วว่า มีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่ทั้งสองฝั่งโขง นั่นก็คือ พระพุทธบาทนาหงส์
(ฝั่งไทย) ที่อยู่ตรงข้ามกับ พระพุทธบาทโพนฉัน (ฝั่งลาว) อันมี พญาสุกขหัตถีนาคราช
พร้อมหมู่นาคทั้งหลายเป็นผู้อารักขา
แต่มีบางคนที่ไม่เข้าใจกัน เพราะพลาดไปในเรื่อง "ประวัติศาสตร์" นั่นเอง คนไทยและลาวจึงต้องมานั่งเถียงกันเรื่อง "บั้งไฟพญานาค"
บางคนถึงกับปรามาสกันเลยก็มี ทั้งๆ ที่ "ตำนานพระธาตุพนม" ก็บอกเอาไว้ชัดเจน แต่ก็ไม่มีใครสนใจอ่านกัน นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าแท้ๆ
ที่พระอรหันต์สมัยนั้นท่านอุตส่าห์บันทึกไว้นานนับพันปี
(หมายเหตุ : ข้อควรสังเกตไว้ด้วยว่า ตลอดแนวริมแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่ง มิได้มีบั้งไฟพญานาคทุกแห่ง โดยเฉพาะที่
อ.บุ่งคล้า จ.หนองคาย ผลสำรวจปรากฏว่าไม่มี "รอยพระพุทธบาท" แล้วก็ไม่มีปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" อีกด้วย)
ถ้าดูตามสถิติบั้งไฟ ปี 2542 จากข้อมูลสถิติการเกิดปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาค ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2542
อำเภอสังคม
- เทศบาลตำบลสังคม 15 ลูก
- ผาตั้ง 45 ลูก
อำเภอเมืองหนองคาย
- บ้านเสริมสุข 156 ลูก
- บ้านปากสวย 180 ลูก
- บ้านพวกใต้ 276 ลูก
- บ้านพวกเหนือ 175 ลูก
- บ้านจอมแจ้ง 300 ลูก
- บ้านพร้าวใต้ 5 ลูก
- บ้านประโค 9 ลูก
- บ้านไก่แก้ว 17 ลูก
อำเภอศรีเชียงใหม่
- บ้านโคกซวก 36 ลูก
- วัดหินหมากเป้ง 24 ลูก
- บ้านท่ากฐิน 41 ลูก
- บ้านทุ่งสว่าง 10 ลูก
- บ้านห้วยไฮ หมู่ 6 33 ลูก
อำเภอโพนพิสัย
- วัดจอมนาง 20 ลูก
- วัดไทย 244 ลูก
- บ้านนาตาล 41 ลูก
- บ้านหนองกุ้ง 40 ลูก
- บ้านร่องถ่อน 318 ลูก
- บ้านปากสวย 311 ลูก
อำเภอปากคาด
- เทศบาลตำบลปากคาด 80 ลูก
- บ้านท่าสวรรค์ 10 ลูก
- บ้านดอนเมืองใหม่ 16 ลูก
- บ้านเวินโดน 6 ลูก
- บ้านต้าย 18 ลูก
- บ้านหนองมุม 3 ลูก
- บ้านหนองบัว 27 ลูก
กิ่งอำเภอรัตนวาปี
- บ้านน้ำเป 233 ลูก
- บ้านหนองคอน 189 ลูก
- บ้านท่าม่วง 143 ลูก
- บ้านหนองแก้ง 142 ลูก
- บ้านดงมดแดง 305 ลูก
อำเภอบึงกาฬ
- บ้านอาฮง 70 ลูก
อำเภอบึงโขงหลง
- บ้านท่าสีไค 12 ลูก
(หมายเหตุ : จะสังเกตเห็นได้ว่า อำเภอบุ่งคล้า ไม่มีบั้งไฟเกิดขึ้น)
ที่มา www.festival.net-com.co.th
เป็นอันว่า ตอนนี้เป็นตอนจบพอดีทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน ในสารคดีเรื่อง แม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต
และผลที่ได้วิเคราะห์ไว้พร้อมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ โดยนำบทความจากนักวิทยาศาสตร์บ้าง จากนักประวัติศาสตร์บ้าง เป็นต้น
แต่หากจะเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงทั้งในพุทธประวัติและตำนานต่างๆ อีกทั้งได้นำประสบการณ์จากหลวงปู่ทั้งหลาย อันมี
หลวงปู่มั่น เป็นต้น ท่านคงไม่โกหกเราอย่างแน่นอน คงจะสร้างความเชื่อถือได้เป็นอย่างดี
จึงสมควรที่จะได้อนุโมทนาความดีของท่าน "พญานาคราชทั้งหลาย" ทั้งที่รู้จักนามหรือไม่ปรากฏนามก็ดีที่ได้แสดงความเคารพ
โดยการบูชาด้วยการถวายต่าง "ประทีปโคมไฟ" หรือที่เราเรียกกันว่า "บั้งไฟ"
เนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงสเทวโลกนั่นเอง..สวัสดี ฯ
*********************************