ตามรอยพระพุทธบาท

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 9)
webmaster - 6/3/08 at 15:11

(Update 20 ก.ย. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 9

พญานาคที่ถ้ำแก้งยาว

ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ... หลวงปู่หลุย จันทสาโร จำพรรษาอยู่ที่ ถ้ำแก้งยาว อยู่บนภูเขาซึ่งเป็นเขตของ วัดป่าถ้ำแก้งยาว ภูเขาที่ถ้ำแก้งยาวนี้ เชิงเขาทอดลงมาบรรจบติดกับทุ่งนา เป็นภูเขาไม่สูงนัก แต่ป่าที่ปกคลุมเขาอุดมสมบูรณ์ และสงบวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง

ถ้ำบนภูแก้งยาวไม่ใหญ่โตกว้างขวางนัก ทำแคร่เล็ก ๆ พอนั่งภาวนา กางกลดมุ้งได้ แต่หลวงปู่หลุยสรรเสริญถ้ำแก้งยาวมาก ท่านว่าเทพมาก มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมาอนุโมทนาการกระทำความเพียรของท่านด้วย

หลวงปู่หลุยท่านมักเปลี่ยนที่ภาวนา หากเห็นก้อนหินเหมาะ เห็นร่มไม้ใหญ่ดี ท่านจะใช้ผ้าอาบปัด ๆ หินก้อนนั้น หรือพื้นที่ตรงนั้นให้สะอาด และท่านก็นั่งลงทำความเพียรทันที บางคราวหลวงปู่หลุยเห็นต้นไม้ใหญ่ล้มทอดไปตามพื้นดิน ท่านก็จะขึ้นไปเดินจงกรมบนขอนไม้ล้มนั้น ทำให้มีสติระมัดระวังดี มิฉะนั้นจะตกลงมาจากขอนไม้ล้ม

วันหนึ่ง... หลวงปู่หลุยออกจากถ้ำไปวิเวกที่ร่มไม้ในป่า เมื่อสมควรแก่เวลาท่านก็กลับเข้ามาที่ถ้ำ ได้เห็นงูใหญ่ตัวหนึ่ง ขดอยู่ใต้แคร่ ซุกหัวอยู่ในขนดนิ่งเฉย ไม่ได้ส่อแสดงกิริยาดุร้ายใด ๆ ออกมา

หลวงปู่คิดว่า ท่านอาจตั้งแคร่ปิดปากรูทางเข้าออกของงูยักษ์นี้ก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้ว ไม่เห็นปากรูหรือปากโพรงใด ๆ ผนังราบเรียบสนิท ไม่ปรากฏหลืบหินอันอาจอำพรางช่องทางใด ๆ ไว้

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลวงปู่หลุยจึงคาดเดาเอาว่า ก่อนหน้าที่ท่านจะกลับเข้ามาในถ้ำ งูใหญ่คงเลื้อยผ่านปากถ้ำอันเย็นและสงบสงัด จึงเข้ามาพักผ่อนนอนเล่นดังที่เห็นอยู่ หลวงปู่คิดว่าเมื่อเขารู้แล้วว่าท่านเข้ามา เขาก็คงจะกลับออกไปสู่ถิ่นที่อยู่เดิม ท่านจึงออกจากถ้ำไปทำกิจส่วนองค์เบื้องนอก เดินจงกรมอยู่นานพอสมควรก็กลับมายังถ้ำ

ขณะนั้น...เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว แทนที่งูใหญ่จะเคลื่อนย้ายออกไป กลับนอนขดอยู่ใต้แคร่เช่นเดิม ส่วนหัวที่ซุกหลบในตอนแรก ตอนนี้ยกมาพาดวางบนลำตัวมหึมา หลวงปู่หลุยมีความรู้สึกชักจะคุ้นกับงูตัวนี้ จึงเข้าไปดูใกล้ ๆ เห็นนัยน์ตาของเขาจ้องมองกลับมานิ่งเฉย ในขณะที่นัยน์ตาของหลวงปู่หลุยเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา

เมื่องูใหญ่ไม่ยอมขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายไปจากใต้แคร่ หลวงปู่ท่านก็วางเฉยเสีย คิดว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ ต่างฝ่ายย่อมใช้ชีวิตตามเพศตามชาติของตน ไม่ขัดเคืองขัดขวางกัน มีแต่เมตตาต่อกัน

ในค่ำคืนนั้น... หลวงปู่หลุยกางมุ้งนอนกลดบนแคร่ของท่านตามปกติ ไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำความเพียรตามวัตรปฏิบัติเป็นปกติ โดยมีงูตัวมหึมานอขดอยู่ใต้แคร่เงียบเชียบ

ตอนเช้า...ตี ๓ ...หลวงปู่จะลุกขึ้นล้างหน้า สวดมนต์ภาวนา แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ งูใหญ่ที่ขดอยู่ใต้แคร่ก็ย่อมได้รับกระแสธรรมจากหลวงปู่โดยตรงยิ่งกว่าผู้ใด

น่าแปลกอย่างยิ่งที่งูใหญ่ตัวนั้นขดตัวนิ่งอยู่ใต้แคร่ของหลวงปู่หลุยถึง ๓ วัน ๓ คืน ประหนึ่งมาขอรับบารมีอันชุ่มเย็นจากหลวงปู่หลุยโดยตรง ซึ่งท่านก็แผ่เมตตาให้ด้วยความการุณย์ อยู่ครบ ๓ วันแล้ว งูใหญ่จึงได้จากไปในขณะที่ท่านออกไปวิเวกนอกถ้ำ เวลาเลื้อยออกไปท่านไม่เห็น แต่เห็นรอยที่ผ่านไป ปรากฏว่าต้นไม้ใบหญ้าราบเป็นทางยาวตั้งแต่ปากถ้ำไปจนถึงเชิงเขาซึ่งเป็นชายทุ่ง

ขณะนั้นนาข้าวกำลังขึ้นเขียวขจี รอยงูที่เลื้อยผ่านทุ่งนาเป็นช่องโล่ง แลลิบลิ่วไปไกลสุดสายตา แสดงว่าเป็นงูยักษ์ตัวมหึมาอย่างน่ากลัว เพราะต้นข้าวที่เขาปักดำเป็นแถวเป็นกอห่าง ๆ กันนั้น ถูกลำตัวงูทับราบไปถึง ๓ กอ ๓ แถว เป็นทางโล่งไปตลอด !!

ทั้งนี้ หลวงปู่หลุยเล่าว่า ขณะที่งูใหญ่เข้ามานอนขดอยู่ใต้ปคร่ของท่านมองดูก็ใช่ว่าจะใหญ่โตเท่าใดนัก แต่ร่องรอยซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานตั้งแต่ปากถ้ำไปจนถึงชายทุ่ง แล้วเลื้อยฝ่าท้องทุ่งกว้างใหญ่หายเข้าไปในป่าเขาลำเนาไพรอีกฟากหนึ่ง เป็นรอยพญางูตัวมหึมา ยากที่จะมีผู้ใดพบเห็นมาก่อน !!

มีผู้ถามหลวงปู่หลุยว่า ชะรอยจะเห็นพญานาค การที่เขามาขดอยู่ใต้แคร่ของหลวงปู่โดยมีขนาดลำตัวไม่ใหญ่โตนักนั้น คงเนื่องจากการนิรมิตด้วยฤทธิ์ให้ตัวเล็กลง เพราะยังมีเณรน้อยไปคอยปรนนิบัติอุปัฏฐากท่านอยู่ด้วย พญานาคจึงไม่ต้องการให้เณรเกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัว หลวงปู่หลุยไม่ตอบ หากท่านยิ้ม ๆ เท่านั้นแล้วท่านก็พูดเลี่ยง ๆ ไปว่า

เวลาพญานาคออกไป เขาส่งเสียงดัง “อี๊...อึ่ด...อึ่ด...” มีคนได้ยินหลายคน แต่ไม่มีใครคิดว่าเป็นเสียพญานาค

นี่คือความอัศจรรย์เกี่ยวกับพญานาคที่หลวงปู่หลุย จันทสาดร เคยเผชิญมา ซึ่งมีผู้คนมากมายทั้ง ๆ ที่เป็นชาวพุทธศาสนิกชนไม่เชื่อว่าพญานาคมีจริง ๆ คิดว่าเป็นเรื่องเล่าขานให้เกิดความสนุกสนาน หรือเป็นแค่นิทานชาดก

แต่...โปรดคิดกันสักนิดว่า หลวงปู่หลุย จันทสาคร เป็นพระอริยเจ้าผู้บำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ไม่ยอมด่างพร้อยในพระธรรมวินัยเด็ดขาด และเป็นที่น่าเชื่อว่า ท่านได้ละสังขารสู่แดนพระนิพพานแล้วอีกองค์หนึ่ง ดังนั้น...เรื่องพญานาคที่ท่านกล่าวถึงจะเป็นเรื่องเลื่อนลอยได้อย่างไร..?

ที่มา - เว็บ dharma-gatewat.com

ท่านผู้อ่านก็ได้อ่านเรื่องราวผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นการเล่าจากทางด้านหลวงปู่ชอบ ต่อไปจะเป็นการเล่าจากผู้เกี่ยวข้องที่ถูกเอ่ยถึงด้วย คือ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ แล้วยังมี หลวงปู่บุญญฤทธิ์ อีกด้วยที่ท่านเคยจำพรรษากับหลวงปู่ชอบมาแล้ว นับว่ามีประโยชน์ต่อพวกเราในภายหลัง ที่จะได้ศึกษาเรื่อง "พญานาค" กันอย่างละเอียด



หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต
ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


".......อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์ชอบ เล่านิมิตให้ฟังว่า ภาวนาไปจิตสงบลงเกิดแสงสว่างพุ่งไปสู่ทางจงกรม ขณะนั้นปรากฏเห็นพญานาคตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาที่หัวทางจงกรมนั้น ท่านถามพญานาคว่ามาจากไหน พญานาคตอบว่า

"........มาจากเชิงเขาลูกนี้ ข้าพเจ้าอยู่เชิงเขาลูกนี้แหละ ในเขาลูกนี้มีลำธารผ่านเชิงเขาออกมาแล้วไหลสู่ท้องนาของชาวบ้าน พวกท่านเดินทางมาก็คงได้ข้ามลำธารนี้มาหลายครั้งไม่ใช่หรือ" ท่านอาจารย์ถามว่า "ท่านชื่อว่าอย่างไร" พญานาคตอบว่า "ข้าพเจ้าชื่อเทพนาคา"

ท่านอาจารย์เล่าว่า พญานาคเมื่อโผล่หัวขึ้นที่ทางจงกรมแล้วก็เอาหางพาดเขาอีกลูกหนึ่งให้ท่านดู รู้สึกว่าตัวยาวมาก ข้าพเจ้าถามว่า ลักษณะสีของพญานาคเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าพญานาคนั้นมีหงอนสีแดงและมีแผงเหมือนกับของม้าเช่นนั้น และลำตัวเป็นเกล็ดสีดำเลื่อม แสดงตัวให้ดูอยู่ครู่หนึ่งก็จมลงไปที่เดิมนั้นเอง เรื่องพญานาคก็เป็นอันจบลงเท่านี้

ต่อมาอีกสองวัน ข้าพเจ้านั่งสมาธิในคืนวันนั้นรู้สึกว่าปลอดโปร่งดีพอสมควร เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็นอนตะแคงลงข้างขวาลงเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ และมีสติสัมปชัญญะให้ตั้งมั่นอยู่ภายในตามเดิม ในขณะนั้นกระแสจิตก็ผ่องใสดี ครั้นแล้วก็ปรากฏเหมือนมีเงามืดไหลเข้าสู่กระแสจิตที่ผ่องใสอยู่นั้นให้มืดเข้าทีละน้อย เหมือนก้อนเมฆไหลเข้าสู่ดวงจันทร์ฉะนั้น

จึงดำริในใจว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องอะไรหนอ" ก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอะไรในขณะนั้น จึงเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างคงไม่พ้นไปจากนามรูป จึงบริกรรมขึ้นในจิตว่า "นามรูปังอนิจจัง นามรูปังทุกขัง นามรูปังอนัตตา" พอบริกรรมเท่านั้นก็ปรากฏว่า กระแสจิตที่มืดอยู่นั้นค่อยสว่างออกทีละน้อยๆ เหมือนก้อนเมฆไหลออกจากพระจันทร์ฉะนั้น ต่อจากนั้นจึงเคลื่อนไหวร่างกายได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาแต่ก่อนเลย เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรก จึงเลยไปนึกถึงเรื่องพญานาคที่ท่านอาจารย์ชอบนิมิตเห็น ชะรอยว่าพญานาคจะมาเยี่ยมหรืออย่างไรก็เป็นเรื่องที่รู้อยู่ไม่ได้นั้นเอง แต่ว่าถ้าโดยธรรมาธิษฐาน คือยกเอาธรรมเป็นที่ตั้งแล้วก็คงได้ความว่า เรื่องของอวิชชาตัณหาแล้วมันมีลักษณะมืดมน เมื่อมันครอบงำจิตจึงทำให้จิตมัวหมองไม่ผ่องใส แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาให้เกิดขึ้นแล้ว ความมืดก็จะหายไป

การบำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนเขาลูกนั้นรู้สึกว่าได้ผลดีมาก ต่อจากนั้นมาก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก จนวันเวลาผ่านไปได้ ๒๒ วัน ท่านอาจารย์ชอบเกิดไม่สบาย คือเจ็บเสียดมีลมในท้อง ไม่สามารถเดินบิณฑบาตได้เพราะมันไกลท่านจึงชวนกลับวัด ปีนั้นจำพรรษาที่ สำนักสงฆ์อำเภอสันกำแพง การจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่รวมแล้วได้ ๑๐ ปี

ที่มา - เว็บ dharma-gateway.com



พระอาจารย์บุญญฤทธิ์เล่าเรื่องหลวงปู่ชอบ

".......ขอเล่าเรื่อง พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ไปอยู่จำพรรษากับ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ครั้งแรกที่ภูผาแด่น อ.แม่แตง จ เชียงใหม่ สมัยนั้นท่านยังเป็นพระบวชใหม่ ที่เรียกว่าพระนวกะอยู่ เพราะเพิ่งบวชได้ ๔ พรรษา พระอาจารย์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า : -

"........ในปีนั้น อากาศหนาว ความจริงสภาพชีวิตเคยได้สัมผัสกับความหนาวจากประเทศทางยุโรปมาแล้ว แต่ครั้งนั้นอุปกรณ์กันหนาวดูครบครัน ครั้งนี้ แม้อากาศจะหนาวไม่เท่ายุโรป แต่อาศัยจีวร อังสะ บางๆ แค่นั้น ก็ย่อมสะท้านเข้าไปถึงจิตใจ

นอกจากความหนาวแล้ว ยังมีน้ำค้างพรั่งพรมส่งเสริมความชื้นเยือกเย็นเข้าไปอีก กิจวัตรของอาตมาต้องปรนนิบัติหลวงปู่ชอบ ฐานสโม อากาศหนาวแค่ไหนก็ตาม ก่อนสว่างอาตมาจะต้องต้มน้ำ ดังนั้นจะต้องก่อไฟเสียก่อน เวลาทำงานจะต้องเงียบนะไม่มีเสียงเลย การไปหาฟืนมาสำรองไว้นั้น ทำเวลากลางคืน บนเขาน่ะมันมืดมากนะโยม หาฟืนน่ะต้องค่อยๆ คลำหา แล้วก็เก็บมารวมไว้ ได้มาแล้วต้องมาผ่าไม้ฟืน ตักน้ำถวาย ถังน้ำเป็นสังกะสีต้องเงียบไม่กระทบให้ดัง ต้องมีสติระวังตัวไม่เผลอ

อาตมาต้มน้ำ-ก่อไฟเสร็จ ก็พอดีใกล้สว่าง ผสมน้ำอุ่นไปถวาย เดินก็ค่อยๆ ทำ กระโถนไม่มีใช้ ต้องตัดไม้ไผ่กระบอกมันเอามาทำกระโถน อาตมานำเอาไปเท แล้วก็ล้าง จากนั้นก็ตากแดดไว้พอแห้ง ตอนสายก็กวาดใบไม้ ภาวนาไปด้วย การภาวนา หลวงปู่ท่านไม่สอนอะไรมาก เมื่อบอกให้ภาวนา แล้วต่างองค์ก็ต่างภาวนา

ท่านบอกว่า “ทำจิตให้เหมือนธรรมชาตินี้ เห็นไหมธรรมชาติสงบ วิเวก จิตวิเวกสงบตามไปด้วย”
แต่เมื่อนั่งภาวนาไปๆ จิตมันแลบออกไปคิดโน่นคิดนี่ หลวงปู่ตามดูจิตรู้ทักเอาว่า
“เฮ่ย! บุญฤทธิ์ ทำจิตอย่างนั้นไม่ถูก”
เมื่อท่านตักเตือนให้ ก็ตั้งสติใหม่ ทำจิตกำหนดรู้เฉพาะหน้า พยายามต่อไป และก็ทำสติไม่ให้พลั้งเผลออีก กำหนดรู้อย่างเดียว

หมีกินผึ้งและเสียงพญานาค

พระอาจารย์บุญฤทธิ์เล่าถึงการไปอยู่ภาวนากับ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่ภูผาแด่นต่อไปว่า ระยะนั้นพวกป่าไม้เองก็ยังไปไม่ถึง ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่มหึมา สองคนโอบไม่รอบ หมีไปกินผึ้งแถวกุฏินั่นเอง เสียงบ่นพึมพำทำให้อาตมาเข้าใจในตอนนั้นเอง ที่ว่า บ่นเป็นหมีกินผึ้งนั้นเป็นอย่างไร เวลาหมีไปแล้ว มนุษย์ก็ได้อาศัยน้ำผึ้งจากรวงรังเหล่านั้นมา เป็นคิลานเภสัช (ยา) ต่อไป พวกผึ้งมาทำรวงรังกันมากบริเวณนั้น

ท่านเล่าต่อไปว่า สถานที่ที่บำเพ็ญภาวนานั้น เรียกว่าผาแด่น ใกล้ๆ กันนั้นมีดอยอีกแห่งหนึ่ง พวกยางเรียกว่า "ผาเด่น" อาตมาขึ้นไปทำความเพียรก็เห็นว่าดีมาก เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา จึงได้ขออนุญาตจากหลวงปู่ ท่านก็บอกว่า “ดี ไปภาวนาเถิด มันวิเวกดีมาก”

อาตมาไปทำความเพียรอยู่ (ที่ผาเด่น) นั่งสมาธิมากแล้วก็เดินจงกรม เดินจงกรมที่นี่ดีมากทีเดียว ลมโชยอ่อนๆ แดดไม่ร้อน แต่มีอยู่อย่างหนึ่ง อยากจะนำมาเล่าให้โยมได้ฟังกัน คือ...ขณะภาวนาอยู่นั้น บางวันได้ยินเสียงดังเหมือนหวูดรถไฟ โยมเคยได้ยินไหม หวูดรถจักรไอน้ำน่ะ ดังอย่างนั้นแหละ

อาตมาสงสัยจึงได้เข้ากราบเรียนถามหลวงปู่ ท่านบอกว่า “นั่นแหละเสียงพญานาค !” ญาติโยมถามว่าเสียงนั้นดังมากไหม ทำไมพญานาคจึงเที่ยวไปอยู่ตามป่าดงพงไพรเช่นนั้น ?

พระอาจารย์ตอบว่า พญานาคมีทุกแห่ง เพราะเป็นวิสัยพวกเทพระดับหนึ่ง นิมิตอยู่ที่ไหนก็ได้ คนส่วนมากเข้าใจว่า พญานาคอยู่ในน้ำเท่านั้น ความจริงเขาก็พวกเทพเหมือนกัน เสียงพญานาคที่ร้องนั้นดังมาก จนอากาศส่วนนั้นสะเทือนทีเดียว

ยามบ่ายๆ หน่อย อากาศดีมาก แสงแดดจะส่องตามทิวเขา ผาต่างๆ ที่สลับซับซ้อน จนเกิดเป็นสีสันที่สวยงามมาก เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน สีแสด สีชมพู มองดูงามมากจริงๆ

อาตมาไปฟังเสียงพญานาคร้องให้ได้ยินหลายครั้ง ถ้าจะพูดว่าเสียงอื่นๆ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ มันอยู่ในป่าดง เอาเสียงอะไรมาล่ะ ครั้งกระนั้นมีแต่ป่าห่างไกลความเจริญด้วย

ญาติโยมถามว่า ท่านไม่คิดว่าจะเป็นเสียงร้องของช้างป่าหรือสัตว์ป่าอย่างอื่นบ้างหรือ ? พระอาจารย์ ตอบว่า เสียงช้างเสียงเสือนั้นมันร้องก็จำได้ ไม่ใช่สัตว์ป่าพวกนี้แน่ๆ อีกอย่างเวลามันร้อง ก็ฟังได้ยินอยู่เสมอจำได้ดี และอาตมาคิดว่าไม่ใช่สัตว์พวกนี้หรอก !

เรื่องของอิทธิฤทธิ์ทางใจ

"........เป็นที่ทราบกันกว้างขวางว่า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นพระมีอภิญญา มีอิทธิฤทธิ์ทางใจ ที่เป็นที่ร่ำลือในหมู่พระธุดงคกรรมฐานทั่วไป แต่โดยปกติ ครูอาจารย์พระกรรมฐานทั้งหลาย ท่านไม่นิยมเล่นฤทธิ์อำนาจทางจิตใจ เว้นแต่บางกรณีท่านต้องใช้ในการสั่งสอน ในการปราบศิษย์ดื้อ หรือใช้แก้ปัญหาฉุกเฉินในบางครั้งบางคราวบ้างเท่านั้น
.........ในกรณีของ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านรับศิษย์ไว้มากมายหลายรูป มีทั้งภิกษุ สามเณร และยังมีอุบาสกติดตามไปอีกส่วนหนึ่งด้วย การทำอิทธิฤทธิ์ทางใจนั้นมีหลายหนทาง แม้การกำหนดรู้วาระจิต ของศิษย์ที่คิดผิดไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรมก็เป็นวิธีหนึ่งที่เห็นเป็นตัวอย่างมามาก

พระอาจารย์บุญฤทธิ์ ได้เล่าให้ฟังดังนี้ : -

การเดินธุดงค์ในป่าในเขาลำเนาไพร ขึ้นยอดดอย เทือกเขาเข้าป่าดงพงไพรนั้น หลวงปู่ชอบ ท่านตักเตือนศิษย์ให้ระวังสังวร มิให้เกิดความประมาท
หลวงปู่ ท่านพูดถึงการกระทำของพระผู้มีศีลเป็นเครื่องคุ้มครอง แม้ใครประมาททำความมัวหมองให้แก่จิตใจตนเองมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ไม่มีใครๆ เห็นก็ตาม ไม่ได้ยินก็ตาม...

“...แต่สิ่งอันลึกลับเกินกว่าจิตของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ ก็ย่อมรู้เห็นได้ และยังมีอีกมาก เพราะว่าผู้มีจิตละเอียดจริงๆ ยังมีอยู่ จงอย่าปฏิเสธความจริงในข้อนี้”

ผู้ประพฤติปฏิบัติพระกรรมฐาน จงทำเพื่อความไม่ประมาท จงสำรวมระวังในทุกอิริยาบถ ทำความงดงามตลอดเวลา แต่เมื่อศิษย์คิดผิด ทำผิด หลวงปู่ท่านจะรู้ก่อน และก็ดักใจศิษย์คนนั้นจนบังเกิดความเกรงกลัวมาก

อันนี้อาตมาจึงพยายามเรียนรู้ปรจิตวิชา หรือการกำหนดรู้ใจของผู้อื่นอย่างแม่นยำของท่านให้ได้ อันนี้อาตมาถือว่า เป็น อิทธิฤทธิ์ทางใจ อันหนึ่ง เพราะคนธรรมดาๆ คงไม่รู้ผลแน่ๆ

สำหรับหลวงปู่ชอบ ท่านล่วงรู้ได้อย่างรวดเร็ว ท่านสามารถดักจิตใจของศิษย์ผู้คิดผิด หลงผิด ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีผิดเลยสักรายดียว มาในระยะหลังๆ นี้ ดูว่าท่านไม่ทักใครอีก ท่านจะปล่อยวางไม่อยากจะทักใครอีก นอกจากนั้นลูกศิษย์ทั้งหลายต่างก็มีความตั้งใจสำรวมระวังให้งดงามมาตลอดอยู่แล้ว.."

ที่มา - เว็บ dhammathai.org

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »