ประวัติความเป็นมาของ วันมหาปวารณา
........วันมหาปวารณา เป็นวันสุดท้ายของการเข้าพรรษา ซึ่งพระภิกษุจะต้องประชุม ทำปวารณากันในโบสถ์ และต้องอยู่จำพรรษาที่อารามนั้นๆ อีก ๑ คืน
จนกระทั่งรุ่งอรุณของวันใหม่ จึงได้ชื่อว่า สิ้นสุดการเข้าพรรษา หรือออกพรรษาที่แท้จริง ทั้งนี้คนในปัจจุบันสับสน เพราะคนทำปฏิทินสับสนและเข้าใจผิด
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุทำปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หรือ ยอมมอบตนให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือน
ในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อให้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญในพระธรรมวินัย
และความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน
ที่มา คือ ครั้งหนึ่ง ภิกษุจำพรรษาในแคว้นโกศล ตั้งกติกาไม่พูดกัน ใช้วิธีบอกใบ้ หรือใช้มือแทนคำพูด เมื่อออกพรรษาแล้วไปเฝ้าพระศาสดา
พระองค์ทราบความแล้ว ทรงติเตียน และทรงอนุญาตการปวารณา คือการอนุญาตให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนกันได้ โดยภิกษุจำพรรษาแล้วปวารณาด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ๑.
โดยได้เห็น ๒. โดยได้ยิน ได้ฟัง ๓. โดยสงสัย ( ปวารณาขันธกะ วิ. ม. สมันตาปาสาทิกา มก. ๖/ ๕๖๘ , มจ. ๔/ ๓๓๑)
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกระทำปวารณาต่อหมู่สงฆ์
น่าสังเกตว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วยังมีการทำปวารณาซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นว่า การทำปวารณาของสงฆ์นั้น
เป็นสิ่งจำเป็นทั้งระดับบุคคลและหมู่สงฆ์ ดังนี้
คราวหนึ่งในพระวิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถี พระศาสดาประทับอยู่กับพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เพื่อจะทรงทำปวารณา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุนั้นว่า จะติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจาของพระองค์บ้างหรือไม่ พระสารีบุตรทูลตอบปฏิเสธ
จากนั้นพระสารีบุตรก็กล่าวปวารณาให้พระศาสดาติเตียนท่าน
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวปฏิเสธ เพราะพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก พระสารีบุตรทูลถามอีกว่า พระองค์จะไม่กล่าวติเตียนการกระทำทางกาย
ทางวาจา ของเหล่าภิกษุบ้างหรือ พระองค์กล่าวปฏิเสธ เพราะเหล่าภิกษุนี้ได้บรรลุวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ได้อุภโตภาควิมุตติ และได้ปัญญาวิมุตติเป็นพระอรหันต์ (
ปวารณาสูตร สัง. ส. วังคีสสังยุต มก. ๒๕/ ๓๒๕, มจ. ๑๕/ ๓๑๒)
อานิสงส์การอยู่จำพรรษา
ส่วนเมื่อออกพรรษาแล้ว นั่นหมายถึง พระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ย่อมได้อานิสงส์พรรษา ๕ ข้อ คือ
๑.เที่ยวไปไหนโดยไม่ต้องบอกลา
๒.ไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ
๓.ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันอาหารรวมกันเป็นกลุ่มได้)
๔.ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา และ
๕. จีวรที่สาธุชนถวายมานั้น สามารถรับเป็นของตนได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องส่งเข้ากองกลางให้เป็นของสงฆ์ (วิ.ม. มก.๗/๑๙๓, มจ.๕/๑๔๕)
ด้วยอานิสงส์ทั้ง ๕ ข้อนี้ ทำให้เกิดความสะดวกในการบำเพ็ญสมณะธรรมอย่างมาก เพราะช่วง ๓ เดือนในพรรษา
เป็นเสมือนการศึกษาภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติโดยมีอุปัชฌาย์อาจารย์คอยดูแลชี้แนะข้อบกพร่อง เมื่อออกพรรษาจึงต่างแยกย้ายกันหาที่สงัดสงบและวิเวก
เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณะธรรมให้เข้มข้นด้วยตนเอง อีก ๙ เดือน ก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันใหม่พรรษาหน้า
เพื่อเช็คสอบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมและรับการชี้แนะต่อไป.
|