ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 21/2/08 at 11:08 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 7)


(Update 18 ก.ย. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 7

ประสบการณ์พระธุดงค์กับพญานาค

ตามคำบอกเล่าของ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย จังหวัดนครพนม กล่าวว่า ทางฝั่งไทยและฝั่งลาวต่างมี กษัตริย์แห่งนาคราช หรือ "นาคาธิบดี" แยกปกครองดูแล ดังนี้

ฝั่งลาว คือ พญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว เป็นพญานาคเจ็ดเศียร

ฝั่งไทย คือ พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย เป็นพญานาคหนึ่งเศียร

พญาศรีสุทโธ ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่าพญานาค 6 อำมาตย์ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา หลวงปู่เอ่ยชื่อ 6 อำมาตย์แห่งพญานาคไว้เพียง 3 คือ

1. พญาจิตรนาคราช เป็นพญานาคที่รักสวยรักงาม มีเขตแดนปกครองของตน ตั้งแต่ตาลีฟู ถึงจังหวัดหนองคาย ตามแนวแม่น้ำโขง โดยมีที่สุดแดนอยู่วัดหินหมากเป้ง

2. พญาโสมนาคราช มีเขตแดนปกครอง ตั้งแต่วัดหินหมากเป้ง มาจนถึงวัดพระธาตุพนม สุดเขตแดนที่แก่งกะเบา พญาโสมนาคราช มีอุปนิสัยคล้ายพญาศรีสุทโธนาคราช คือชอบปฏิบัติธรรม จึงเป็นที่ไว้วางใจ และโปรดปรานแก่พญาศรีสุทโธนาคราชมากกว่าพญานาคอื่น ๆ

3. พญาชัยยะนาคราช มีเขตแดนจากแก่งกะเบา เรื่อยไปจนสุดแดนที่ปากแม่น้ำโขงลงทะเลในเขมร พญานาคตนนี้มีฤทธิ์เดชมาก ชอบการรณรงค์ทำสงคราม คือชอบการต่อสู้เป็นนิสัย

พญาศรีสัตตนาคราช เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวงในฝั่งลาว เป็นพญานาคที่ทรงฤทธิ์ ท่านเป็นพญานาคที่ชอบจำศีลและประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนพญาศรีสุทโธนาคราช โดยชอบมาที่วัดพระธาตุพนมเหมือนกัน

หลวงปู่คำพันธ์ยังได้กล่าวอีกว่า ส่วนใดที่อยู่ใกล้ต้นน้ำลำธาร หรือหากมีพิธีกรรมอันใดเกิดขึ้น ให้อัญเชิญบอกกล่าวแก่เหล่าพญานาค พิธีกรรมนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง (หลวงปู่คำพันธ์ได้มรณภาพไปแล้ว เมื่อปี 2546)

ที่มา - เว็บ suvannaka.com



หลวงปู่เทสก์ กับ พญานาค

".......ที่ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย หลายคนมีความสงสัย และไม่รู้ว่าบริเวณนั้นเป็นสถานที่ที่ พญานาค อาศัยเฝ้ารักษาวัดหินหมากเป้งอยู่เหมือนกัน คือ

บริเวณสระน้ำด้านหน้าวัด แรก ๆ เมื่อทางชลประทานทำนบกั้นน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในวัด ปรากฏว่าทำนบเกิดรั่วอยู่บ่อย ๆ ไม่สามารถที่จะเก็บน้ำไว้ได้ เมื่อสอบถามจากหลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่า บริเวณสระนั้นจะมีถ้ำลงไปเมืองพญานาค การทำทำนบจึงไม่อยู่ จะมีน้ำไหลออกอยู่เรื่อย และท่านยังบอกว่าเคยลงไปพบพญานาค อยู่หลายครั้งและเคยมีพญานาคมาฟังเทศน์ด้วย

แม้ก่อนที่จะมีการพระราชทานเพลิงศพท่าน ก็ปรากฏว่ามีงูใหญ่ (งูเหลือม 3 ตัว) ได้มาจากประเทศลาว ซึ่งคนทรงบอกว่า งูเหล่านี้ร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพท่าน ถึงแม้ว่าจะมีคนเอาไปปล่อยไว้ที่อื่น งู 3 ตัว ตัวนั้นก็กลับมาเหมือนเดิม จนทางวัดได้สร้างศาลให้อยู่ 3 หลัง ไว้ที่หน้าถ้ำในสระน้ำ ทำให้มีประชาชนมาดูกันมาก.."

ที่มา - เว็บ panyathai.or.th

หมายเหตุ : วัดหินหมากเป้ง ตำบลพระบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ขอให้ผู้อ่านสังเกตไว้ด้วยว่า วัดหินหมากเป้งนั้นตั้งอยู่ที่ ตำบลพระบาท แล้วก็อยู่ใกล้ วัดพระบาท อีกด้วย แสดงว่าบริเวณนี้มี "รอยพระพุทธบาท" อยู่ริมแม่น้ำโขงมาแต่โบราณ เหมือนกับ วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ที่อยู่ใน "ตำบลพระบาท" เหมือนกัน

ถ้าเชื่อว่ารอยพระพุทธที่สระบุรีเป็นของจริง สถานที่นี้ก็น่าจะเป็นของจริงเช่นกัน พอมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะวินิจฉัยได้ว่า เพราะเหตุใดบริเวณนี้จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ซึ่ง "ผู้เขียนเว็บตามรอย" จะเฉลยปมปริศนากันต่อไป คิดว่าเรื่องนี้คงไม่มีใครคาดคิดกันมาก่อน จึงขอให้ผู้อ่านติดตามกันไปเรือยๆ ในตอนท้ายก็จะ "ฟันธง" ให้แน่ชัดกันไปเลย



หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พบพญานาคแม่น้ำโขง
(เรื่องนี้คัดลอกมาจากหนังสือ พระอริยสงฆ์เผชิญพญานาค)


".......หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอริยเจ้าอีกรูปหนึ่งที่เป็นที่เคารพบูชาของพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านได้ผ่านพบประสบการณ์อันอัศจรรย์มากมาย ระหว่างธุดงค์ไปในป่าเขาลำเนาไพรเพื่อพากเพียรบำเพ็ญธรรม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นศิษย์รูปหนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อันเปรียบดั่งแม่ทัพธรรมสายปฏิบัติแห่งภาคอีสาน และหลวงปู่ชอบเคยได้ร่วมธุดงค์ไปกับท่านพระอาจารย์มั่นหลายวาระ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง...หลวงปู่ชอบได้ร่วมธุดงค์ไปกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และท่านได้รับรู้เรื่องพญานาคซึ่งท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า...
เราตาม ท่านพระอาจารย์มั่น ไปปักกลดอยู่ริมบึงน้ำใหญ่แห่งหนึ่งในเขตป่าดงดิบ เราเดินสำรวจดูรอบๆ ปากบึงเราพบความผิดปรกติอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพราะปรกติแล้วน้ำในบึงย่อมเป็นที่พึ่งพาของสัตว์ป่าทั้งหลาย และเมื่อมีสัตว์ป่ามากินน้ำในบึงแล้วจะต้องทิ้งรอยเท้าไว้ที่ขอบบึง แต่ไยเล่าจึงไม่ปรากฏรอยเท้าสัตว์อยู่แม้แต่รอยเดียว

เรากำหนดจิตตามที่ท่านพระอาจารย์สอนไว้เรากระทบกับสิ่งหนึ่งทันที พญานาคผู้ยิ่งใหญ่แต่ไร้คุณธรรมได้พ่นพิษอันร้ายกาจไว้ในบึง ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์น้อยใหญ่หากได้กินน้ำแล้ว ย่อมถึงแก่สิ้นชีวิตด้วยพิษอันร้ายแรงนั้นในไม่ช้า เราจึงบอกกับพวกพ้องที่เดินมาด้วยกันกับท่านพระอาจารย์มั่นให้งดใช้น้ำในบึงนั้น

เราเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นโดยตรง ท่านใช้พลังจิตสำรวจดูจึงกล่าวกับเราว่า “เธอกล่าวถูกแล้ว” ขอให้งดใช้น้ำ เราจะติดต่อกับพญานาคนั้นเอง คราวนั้นเรากับพวกพ้องต้องเดินไปแสวงหาน้ำจากแหล่งอื่นเป็นเวลาหลายวัน

อยู่มาวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นเรียกเราเข้าไปบอกว่า “เธอไปบอกพวกพ้องว่าดื่มน้ำและใช้น้ำในบึงนี้ได้แล้ว” น้ำในบึงปราศจากพิษแล้วพวกเราจึงใช้น้ำได้อย่างสะดวก เราทราบในภายหลังว่าท่านพระอาจารย์ได้ทรมานพญานาคนั้นจนหมดทิฐิ แล้วถามว่า “ท่านไยจึงพ่นพิษลงมาหมายสังหารพระสงฆ์ผู้ทรงศีล มิรู้หรือว่าเป็นอนันตริกรรมถึงลงสู่อเวจีมหานรก ท่านจงรีบไปถอนพิษออกเสียเถิด”

พญานาคราชจึงไปถอนพิษออกจากบึงจนหมด ท่านพระอาจารย์มั่นจึงบอกให้พวกเราใช้น้ำได้ เราได้ทราบต่อมาอีกว่า หลังจากนั้นพญานาคก็ชวนพวกพ้องมาฟังธรรม มาให้การอารักขาเรากับพรรคพวกและท่านพระอาจารย์ จนได้เวลาอันสมควรจึงถอนกลดออกเดินทางต่อไป

นี่คือประสบการณ์ข้องเกี่ยวกับพญานาคของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านกล่าวว่าผู้ที่จะผ่านมิติอันเร้นลับถึงขั้นพบเห็นหรือสนทนากับพญานาคได้นั้น จะต้องเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์และบำเพ็ญเพียรธรรมจนได้ญาณวิสุทธิ์เท่านั้น เรื่องของพญานาคนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว

ผู้ที่ไม่เคยศึกษาพระไตรปิฎกมาก่อน และปฏิบัติธรรมถึงขั้นได้อภิญญาญาณย่อมไม่มีความเชื่อเรื่องพญานาค คิดว่าเป็นนิทานชาดกซึ่งเล่าขานเอาไว้อย่างเลื่อนลอย ทั้งๆ ที่พญานาคมีจริงๆ แม้ในปัจจุบันก็มีอยู่ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ท่านพบเห็นพญานาคอีกครั้ง

เมื่อคราวที่ท่านนำหมู่คณะสงฆ์ธุดงค์ข้ามไปฝั่งลาว แล้วไปปักกลดใกล้หมู่บ้านชาวลาวแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง หลังจากท่านฉันภัตตาหารแล้วชาวบ้านนำบาตรของท่านไปล้าง โดยเทเศษอาหารโดยมีข้าวสุกและน้ำแกงน้ำพริกปลาร้าลงไปในน้ำ

เหตุการณ์ตอนนี้หลวงปู่ชอบเล่าว่า...เราได้ยินเสียงตลิ่งพังดังครืนๆ และบรรดาชาวบ้านวิ่งหน้าตาตื่นเข้ามาทางที่เรานั่งอยู่ ท่าทางดูเขาตกใจมากเขาบอกกับเราว่า เมื่อกี้ได้นำบาตรไปล้างในแม่น้ำโขง พอเทน้ำล้างก้นบาตรลงไปก็เกิดเหตุอัศจรรย์ น้ำในแม่น้ำที่ใสแจ๋วกลับขุ่นคลั่กในพริบตา เหมือนมีอะไรลงไปกวนน้ำในกลางน้ำวน (วังน้ำหันตาไก่) วนเป็นน้ำวนอย่างรุนแรง แรงหมุนของน้ำถล่มเข้าสู่ตลิ่งที่พวกเขาล้างบาตรอยู่ พังออกเป็นกระบิๆ

พวกที่อยู่ริมตลิ่งต้องวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น เพราะหากตกลงไปในน้ำแล้วต้องถูกแรงน้ำวนดูดจมลงไปในวังน้ำแน่ๆ ตอนที่เขามาหาเราเสียงตลิ่งพังดังครืนๆ ไม่ขาด เรากำหนดจิตไปดูเราจึงมองเห็นพญานาคในลำน้ำโขง มีความแค้นเคืองคนเหล่านั้นที่เอาน้ำพริกน้ำปลาร้าไปถูกตัวเขาซึ่งอยู่แถบนั้นพอดี เราจึงห้ามเทเศษข้าวและนำพริกปลาร้าลงไปน้ำอีกเป็นเด็ดขาด

เรื่องก็น่าจะจบแค่นั้นแต่ก็มีพระที่ไปกับเราถือดีคิดว่าที่เราพูดเป็นเรื่องเล่น หลังจากวันนั้นก็มีผู้นำบาตรไปล้างในแม่น้ำและเทน้ำล้างลงไปอีก ก็เกิดอาเพศน้ำหมุนตลิ่งพังต้องวิ่งหนีเอาชีวิตกันแทบไม่รอด ทุกคนจึงยอมฟังไม่กล้าทำในสิ่งที่เราห้ามอีก

เมื่อเราไปจำพรรษาในถ้ำไม่ห่างจากแม่น้ำโขงมากนัก พญานาคราชได้นมัสการเราเพื่อคารวะ ที่เราห้ามมนุษย์ไม่ให้ทิ้งเศษอาหารและของสกปรกลงไป ส่วนหัวของเขามานอบน้อมคารวะเราที่ปากถ้ำ ส่วนหางยังอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโขงห่างกันเป็นกิโลเมตร

“เราพบว่าเขาสร้างกรรมไว้โดยไม่ตั้งใจ เมื่อชาติก่อนเขาเป็นมานพผู้มั่นในศีล 5 แต่วันหนึ่งถือวิสาสะว่าคุ้นเคยได้ถือเอามีดของพระสงฆ์ไปใช้เป็นของส่วนตัว เมื่อดับชีวิตแล้วจึงมาเป็นพญานาคราช แม้แสดงฤทธิ์ได้แต่ก็อับวาสนาไม่ได้เป็นคน เราให้ศีล 5 เขายึดถือเพื่อเจริญภาวนาและยึดในไตรสรณคมน์ต่อไป”

พญานาคกับหลวงปู่ชอบดูเหมือนจะมีความผูกพันกันเป็นพิเศษ แม้แต่ท่านอยู่ในวัดพญานาคก็ยังมาปรากฏกายให้ท่านได้เห็น ดั่งที่ท่านเล่าให้ศิษย์ฟังดังนี้....

เราอยู่ วัดห้วยน้ำริน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ระยะหนึ่งเราสังเกตพบว่า ในบรรดาทายกทายิกาที่นำภัตตาหารมาถวายพระและฟังธรรมนั้น มีชายคนหนึ่งแม้แต่งกายพื้นเมืองธรรมดากว่าคนอื่น แต่ก็มีท่วงท่าสง่างามกว่าผู้คนที่มาทำบุญด้วยกันอย่างเห็นได้ชัด กิริยาอาการสำรวมกว่าคนธรรมดา

อาหารที่เขานำมาถวายทุกครั้งนั้นเป็นอาหารพื้นเมืองธรรมดา แต่เมื่อฉันแล้วกับมีรสโอชากว่าอาหารของคนอื่น แต่เราไม่อาจปลงใจได้ว่าเป็นของชายคนนั้น เพราะเราฉันรวมกันในบาตรด้วยการเคล้า เรามักจะอาศัยเวลาว่างจากการแสดงธรรมสอบถามชาวบ้านเสมอว่า เขาเหล่านั้นเป็นใครมาจากไหนมีความเป็นอยู่อย่างไร จะได้รู้จักและสอนธรรมะได้อย่างสะดวกใจ และเราได้ถามถึงชายคนที่นำดอกไม้และภัตตาหารมาถวาย ทุกคนที่เราถามรู้ว่าหมายถึงใครแต่ก็ตอบไม่ได้ว่าเป็นใคร เพราะต่างคนต่างคิดว่าเป็นญาติของอีกคนหนึ่งต่อๆ กันไป

วันสุดท้ายที่เราพบชายผู้นั้นเขานำดอกไม้และภัตตาหารมาถวายเหมือนเคย ครั้นเราถามว่าบ้านโยมอยู่ที่ไหนถามไถ่ผู้คนก็ไม่รู้จัก เขาก็อมยิ้มก่อนตอบว่าอยู่แถวนี้เองแหละพระคุณเจ้า กล่าวตอบเราแล้วก็ถอยฉากไปนั่งรอถวายภัตตาหาร หลังจากที่ได้ถวายภัตตาหารแล้วธรรมเนียมของคนบ้านนั้น จะตักอาหารที่เหลือจากการถวายพระแจกกันไปทั่วๆ
จากนั้นก็นั่งกินกันเป็นกลุ่มๆ แต่ชายผู้นั้นกับนั่งกินคนเดียวไม่รวมกลุ่มกับคนอื่น เราจึงคอยดูเวลาขอกลับเขาก็เดินแบกถาดอาหารไปตรงสระน้ำหน้าวัด พอเห็นไม่มีใครสังเกตก็หายวับไปในสระนั้นเอง

ในวันหนึ่งเราได้พบกับเขาตามลำพังเราได้สนทนากับเขาถึงเรื่องที่เราอยากรู้ “ท่านต้องการอะไรหรือ จึงขึ้นมาพบพระป่าอย่างเรา”

“พระคุณเจ้ากระผมคือ นาคมานพ วิสัยพญานาคนั้นเคารพในผู้ทรงศีลผู้ทรงคุณธรรม มนุษย์ผู้เป็นกัลยาณชนปรารถนาในการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา พญานาคก็ต้องการบำเพ็ญทานภาวนาและศีลด้วยเช่นกัน ครั้งเมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อ พระภูริทัต ก็บำเพ็ญทานภาวนาจนตัวตายเหมือนกัน”

“ศีลของพระคุณเจ้าหอมเหลือเกิน หอมไปไกล พวกกระผมจึงขึ้นมาบำเพ็ญทานถวายพระคุณเจ้า เพื่อเพิ่มพูนบารมีของตนสืบไป”

“เราขอถามท่านว่าเราเคยพบพวกท่านเนรมิตในรูปต่างๆ มามาก เราต้องการทราบว่าท่านทำกันอย่างไร”

“ขอให้พระคุณเจ้าได้โปรดทัศนาด้วยตาของท่านเอง”

เขากล่าวกับเราว่าเป็นนิมิตภาพเท่านั้นผู้บารมีธรรมจึงได้เห็น ร่างของเขาหายวับไปแล้วปรากฏเป็นมานพหนุ่มรูปงามเดินเข้ามา แล้วหายวับไปเป็นคนแก่งกๆ เงิ่นๆ เดินเข้ามาแล้วกลายเป็นสตรีรูปงาม กลายเป็นนายพรานขมังธนูดูโหด เขาบอกกับเราว่าการเนรมิตคือการคิดแล้วร่างก็เปลี่ยนไปอย่างต้องการ จะให้เป็นมนุษย์ครั้งละหลายๆ คนก็ได้ เป็นสัตว์ป่าหลายๆ ตัวก็ได้ เป็นสัตว์ 2 อย่างพร้อมๆ กันก็ได้

ศิษย์ที่ฟังท่านเล่าจึงถามขึ้นด้วยความสงสัยว่า เมื่อเนรมิตเป็นอะไรก็ได้แล้วรูปร่างจริงเป็นอย่างไร หลวงปู่ก็ตอบว่า เราเคยเห็นอยู่เหมือนกันในภาพผนังโบสถ์นั้นแหละ มี 3 หงอนบ้าง 4 หงอนบ้าง 7 หงอนบ้าง มาด้วยกันทั้งตัวผู้และตัวเมียก็เคยเห็น หงอนสีแดงมีแพรคอเหมือนม้า ลำตัวใหญ่ยาวเกล็ดสีดำเป็นมันเลื่อม

บางครั้งเขาก็มาเป็นมนุษย์ทรงเครื่องแบบกษัตริย์สง่างามมาก มีข้าราชบริพารแห่แหนมาดังขบวนยุรยาตรพระราชา เราพบมาหลายแบบงูตัวเล็กๆ ก็มี ผ้าขาว ผู้หญิง เสือ มนุษย์ กษัตริย์ และอีกหลายอย่างสารพัดสารเพ ดังนั้นพญานาคจึงมีฤทธิ์ในด้านการแปลงกายเป็นพิเศษ.

ที่มา - เว็บ buddhamahawet.com

((( โปรดติดตามตอน หลวงปู่หลุยเผชิญพญานาค ต่อไป )))

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved