ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 10/2/08 at 21:07 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 2)


(Update 12 - 13 ก.ย. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 2

ปมปริศนา "บั้งไฟพญานาค"

นักวิชาการมอง "บั้งไฟพญานาค" ปรากฏการณ์ที่น่าทึ่ง


บั้งไฟพญานาคกำลังเป็นที่สนใจกันทั่วไป หลายคนสงสัยว่าเป็นของจริงตามธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งซึ่งมีมนุษย์บางคนทำขึ้น ในขณะที่บางคนยังเชื่อว่าอาจมีพญานาคจริงและสามารถสำแดงฤทธิ์ทำให้เกิดลูกไฟได้จริงตามตำนาน ความจริงจะเป็นอย่างไรยังไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจน

บั้งไฟพญานาค นับเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี คือ ในคืนวันออกพรรษา หรือ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ระหว่างเวลาประมาณ 19 น.ถึง 22 น. จะมีลูกไฟกลม โตประมาณลูกไข่หรือผลส้ม สีแดงชมพู (บ้างก็ว่าสีหมากสุก) ผุดขึ้นจากแม่น้ำโขงและลอยสูงขึ้น 20-30 เมตรในเวลา 2-3 วินาทีก่อนที่จะหายไปโดยไม่มีเสียงใดๆ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง บริเวณ อำเภอโพนพิสัย และ กิ่งอำเภอรัตนวาปี เป็นระทางยาวประมาณร้อยกิโลเมตร ตำแหน่งที่เกิดลูกไฟไม่เฉพาะที่ คือเปลี่ยนที่ไปมาหลายจุดที่ผู้ชมจะต้องหันมองไปมาอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ จึงมีประชาชนเดินทางไปชมปรากฏการณ์นี้เป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี

ผู้เขียนเองก็ทึ่งในปรากฏการณ์ดังกล่าว และมีโอกาสได้เดินทางไปชมมาครั้งหนึ่ง เพื่อดูว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือเป็นปรากฏการณ์ที่มุษย์สร้างขึ้น (เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง) และด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ในเชิงวิทยาศาสตร์

บังเอิญในปีที่ไปชมนั้น เกิดลูกไฟให้เห็นได้ไม่มากนัก เห็นได้เพียงประมาณ 10 ลูก รวมทั้งลูกที่เห็นได้ทันเป็นบางส่วน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนสามารถถ่ายภาพได้ดีภาพหนึ่ง ความจริงได้เตรียมอุปกรณ์แยกแสง(เกรตติง) ที่จะแยกสเปกตรัมของแสงจากลูกไฟไปด้วย แต่ไม่สามารถเห็นสเปกตรัมได้เนื่องจากความเข้มของแสงต่ำกว่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าสามารถเห็นสเปกตรัมได้ก็จะทำให้ทราบว่าต้นกำเนิดของแสงเป็นธาตุอะไร

และอาจจะทราบทันทีว่าลูกไฟที่เป็นต้นกำเนิดแสงเป็นการเผาไหม้ของแก๊ส หรือวัตถุที่เป็นของแข็งประเภทพลุ สีของลูกไฟตามที่เห็น เป็นสีแบบเดียวกับสีจากหลอดสเปกตรัมของแก๊สไฮโดรเจนที่มีในห้องปฏิบัติการของโรงเรียน ต่างกันที่ความเข้มของแสง ซึ่งลูกไฟมีความเข้มน้อยกว่าย่อมทำให้เห็นเป็นสีแดงมากขึ้น

ผู้เขียนสรุปว่า บั้งไฟพญานาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และสามารถจะหาคำอธิบายปรากฏการณ์ตามหลักการของวิชาวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์และเคมีได้ค่อนข้างสมบูรณ์ เพียงแต่หากจะให้แน่ชัดคงต้องทำการทดลองเลียนแบบหรือตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การทำให้เกิดลูกไฟเช่นนั้นเพื่อเป็นการแสดง ทำได้ไม่ง่ายนัก เช่น

หากทำพลุ จะทำอย่างไรให้ยิงขึ้นโดยไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่นและไม่มีซากหลงเหลือ และมีความเข้มของแสงและสีแบบเดียวกันทุกลูก เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำขึ้น การทำให้เกิดขึ้นที่หลายจุดในแม่น้ำโขงเป็นระยะทางยาวไกลดังที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก





(คลิปวีดีโอ "บั้งไฟพญานาค")

อุบลราชธานี 15 ต.ค. - นอกจากบั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นจำนวนมากที่ จ.หนองคาย แล้ว
และที่ จ.อุบลราชธานี ก็มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเช่นกัน


ชาวอุบลราชธานีและนักท่องเที่ยวกว่า 40,000 คน เดินทางมาชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และทุกคนก็ไม่ผิดหวัง เมื่อบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นลูกแรกเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. โดยลูกไฟสีแดงพุ่งขึ้นมาจากแม่น้ำโขง

ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างส่งเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจ และมีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเป็นระยะ ชาวบ้านบอกว่า ปีนี้บั้งไฟพญานาคมีสีแดง ต่างจากปีที่ผ่านมา และรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นบั้งไฟพญานาคตามความตั้งใจ.

ที่มา - สำนักข่าวไทย



ข้อสมมติฐาน

จาก..ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล



(ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายได้โดยเปิดหน้ากล้องแบบ B ค้างไว้จากที่เริ่มเห็นประมาณ 4 วินาที เปิดหน้ากล้องกว้างสุดและฟิลม์ ASA 400 กล้อง Canon T60 lens 35-70 mm ใช้ที่ 35 mm ในภาพจะเห็นลูกไฟเป็นเส้น ไฟที่สว่างในแม่น้ำหลายจุดเป็นเรือไฟที่ลอยตามน้ำ)

บั้งไฟพญานาคอาจจะเป็นลูกไฟที่เกิดจากการติดไฟของแก๊สมีเธน (methane,สูตรเคมี CH4) ผสมกับแก๊สฟอสฟีนหรือไฮโดรเจนฟอสไฟด์ (phosphine,สูตรเคมี PH3 ) ซึ่งเกิดขึ้นจากการหมักของซากพืชและซากสัตว์ที่บ่อหลุมใต้น้ำ เมื่อแก๊สนี้รวมตัวกันเป็นก้อน ผุดขึ้นเหนือน้ำจะมีอากาศอยู่โดยรอบ แก๊สฟอสฟีนมีสมบัติที่สามารถติดไฟได้เองโดยการสลายตัวและมีปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจน(นับเป็นการเผาไหม้) ซึ่งจะทำให้แก๊สมีเธนติดไฟไปด้วย

ข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่สังเกตได้อาจอธิบายจากสมมติฐานดังต่อไปนี้
ทำไมบั้งไฟพญานาคผุดขึ้นจากน้ำเป็นดวงกลมขนาดเท่าๆกัน เริ่มเห็นได้เมื่อสูงกว่าผิวน้ำประมาณ 1-2 เมตรเป็นอย่างน้อยและลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว (ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 10 เมตรต่อวินาที) ขึ้นสูงประมาณ 20-30 เมตรก่อนที่ลูกไฟจะดับในขณะยังเคลื่อนที่


คำตอบคือ แก๊สผสมดังกล่าวแล้วเมื่อปุดจากใต้น้ำจากช่องที่ไม่โต จะมีขนาดเท่าๆกันโดยอัตโนมัติ คล้ายๆกับหยดน้ำยาหยอดตาที่หลุดจากหลอดที่หยอดตาซึ่งมีขนาดหยดประมาณเท่ากัน หากมีแก๊สมากก็อาจจะแบ่งเป็นสองสามลูกไล่ตามกันมาดังที่เห็นได้ในบางครั้ง แก๊สทั้งสองชนิดดังกล่าวไม่ละลายน้ำ

เมื่อหลุดจากผิวน้ำใหม่ๆ แก๊สยังคงรวมตัวกันเป็นก้อนทรงกลมเหมือนเมื่ออยู่ใต้ผิวน้ำ และคงความเร็วในการลอยขึ้นประมาณเท่าเดิม หรืออาจช้าลงเล็กน้อยในอากาศเนื่องจากแรงยกน้อยลง แรงยกในอากาศมาจากความหนาแน่นที่แตกต่างกันระหว่างแก๊สผสมกับอากาศ ซึ่งแก๊สผสมเบากว่าอากาศ (มีเทนเบากว่าอากาศประมาณครึ่งหนึ่งฟอสฟีนหนักกว่าอากาศเพียงเล็กน้อย)

ปฏิกิริยาระหว่างแก๊สฟอสฟีนกับอากาศ เกิดจากการที่แก๊สฟอสฟีนสลายตัวให้แก๊สไฮโดรเจนที่พร้อมจะรวมตัวกับอ๊อกซิเจนที่บริเวณผิวของทรงกลมแก๊ส พร้อมๆกับการเกิดความร้อนและการปล่อยแสงของอะตอม ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้แก๊สมีเธนสลายตัวและเกิดปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจนด้วย

สรุปคือเกิดการเผาไหม้ที่ผิวของทรงกลมที่สัมผัสอากาศ ผลผลิตของปฏิกิริยาเคมีส่วนใหญ่เป็นไอน้ำธรรมดา การเรืองแสงที่มองเห็นด้วยตาจะมาจากแสงของอะตอมไฮโดรเจนเป็นหลัก ซึ่งจะให้แสงเป็นสีแดงปนชมพู (เป็นส่วนผสมของสเปกตรัมสีแดง น้ำเงิน และม่วง) ระยะ 1-2 เมตรนับว่าใช้เวลาสั้นมากก่อนที่จะเกิดแสงมีความเข้มที่เห็นได้

อัตราเร็วในการลอยขึ้นนั้นเป็นไปได้ เทียบกับการคำนวณตามหลักการทางวิชาฟิสิกส์ ลูกไฟดับไปก่อนหยุดแสดงว่าไม่ใช่การวัตถุที่หนักยิงหรือขว้างขึ้นไป ไม่มีเสียงใดๆเนื่องจากเป็นการปลดปล่อยแสงของอะตอมที่ผิวทรงกลมแก๊สซึ่งไม่รบกวนอากาศโดยรอบมาก แก๊สภายในทรงกลมยังไม่มีโอกาสพบอ๊อกซิเจนก็ยังไม่เกิดปฏิกิริยา

จึงเหมือนมีผนังไฟที่ผิวและอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้ทรงกลมแก๊สรักษาตัวอยู่ได้หลายวินาที หากไม่มีแก๊สฟอสฟีน มีเฉพาะแก๊สมีเธน ผิวทรงกลมจะไม่ติดไฟ เราจะมองไม่เห็น ทรงกลมแก๊สอาจกระจายผสมกับอากาศเร็วขึ้น ลูกแก๊สเช่นนี้น่าจะขึ้นในช่วงกลางวันด้วย แต่แสงในช่วงกลางวันมีมากเราจะไม่สามารถเห็นลูกแก๊สได้

ขนาดของทรงกลมแก๊สที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร สามารถที่จะให้ความเร็วในการลอยตัวทั้งจากในน้ำและในอากาศที่อาจเป็นไปได้จากการคำนวณประมาณการทางวิชาฟิสิกส์ คำนึงถึงความต้านทานของน้ำและอากาศต่อการเคลื่อนที่ ซึ่งจะเป็นปฏิภาคกับความเร็วยกกำลังสองและความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้

ดังนั้นจึงน่าเป็นไปได้ที่ลูกไฟพญานาคในแม่น้ำโขงเกิดจากแก๊สที่ผ่านกระบวนการหมักตามธรรมชาติของซากพืชซากสัตว์ที่ไหลมากับน้ำช่วงฤดูฝน ผุดขึ้นพอดีในวันออกพรรษา

ต่อคำถามสำคัญที่ว่า ทำไมจะต้องผุดขึ้นเฉพาะวันออกพรรษา ไม่ผุดขึ้นในเดือนอื่นหรือวันอื่น มีเหตุผลสองประการประกอบกันที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้คือ

ประการแรก เดือน 11 อาจเป็นเดือนที่ระยะเวลาของการหมักพอดี คือเกิดแก๊สสะสมได้มากกว่าเดือนอื่น

และประการที่สองคือ วันขึ้น 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำ ของทุกเดือนเป็นวันที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน เป็นวันที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดและลงมากที่สุดในรอบวัน น้ำทะเลขึ้นและลงประจำวันมาจากอิทธิพลแรงดึงดูดของดวงจันทร์เป็นหลักและดวงอาทิตย์เป็นรอง ขึ้น 15 ค่ำและแรม 15 ค่ำ เป็นวันที่อิทธิพลทั้งสองเสริมกัน ไม่เพียงเฉพาะทำให้น้ำขึ้นและลง ยังอาจทำให้เปลือกโลกบางแห่งขยับเผยอขึ้นหรือยุบลง

และประการหลังนี้ที่เป็นไปได้ว่า บริเวณใต้แม่น้ำโขงส่วนนั้นอาจมีการขยับตัว หรือมีการบีบให้แก๊สผุดขึ้นมากที่สุดในวัน 15 ค่ำ (อาจจะคลาดเคลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ในแนวเดียวกันมากกว่า)

ข้อมูลต่างๆที่ นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลหนองคาย ได้รวบรวมไว้จากการศึกษาหลายปี ซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่ง ไม่มีข้อใดขัดแย้งกับสมมุติฐานนี้ ข้อแตกต่างกับทฤษฎีของนายแพทย์มนัสอยู่ที่ในสมมุติฐานนี้เชื่อว่ามีแก๊สฟอสฟีนเกิดขึ้นด้วย ไม่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเปอรเซนต์ของอ๊อกซิเจนในอากาศและความชื้นในอากาศ และการให้เหตุผลเกี่ยวกับการเกิดในวันออกพรรษา

เรื่องพญานาคจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อคิดว่า อาจมีพญานาคในคนละภพกับมนุษย์และสัตว์ คล้ายในภพของเทพหรือเทวดา ซึ่งไม่ยุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ เป็นไปไม่ได้ที่พญานาคจะเป็นสัตว์โลกที่ต้องหายใจ ต้องการอาหาร คงไม่สามารถซ่อนตัวอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์เคยพบเห็น ความเชื่อแต่โบราณยังเป็นส่วนของวัฒนธรรมอันดีงาม เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ตามวัฒนธรรมนั้นได้

ส่วนความจริงตามธรรมชาติที่เข้าใจได้สมัยนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้ยังคงเป็นที่น่าทึ่งและน่าสนใจแม้จะไม่มีพญานาคจริง หากพิสูจน์ได้ชัดเจนขึ้น น่าจะมีคำอธิบายให้นักท่องเที่ยวเข้าใจ น่าจะถูกใจนักท่องเที่ยว มากกว่าพยายามทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อว่ามีพญานาค ทางจังหวัดหนองคายน่าจะดูแลให้เห็นปรากฏการณ์ได้ดีขึ้น โดยการลดสิ่งรบกวนต่างๆ เช่นการจุดพลุ โคมไฟ ประทัด และการไหลเรือไฟที่จัดเวลาให้เหมาะสม

สมมุติฐานนี้อาจจะตรวจสอบได้โดยการเตรียมแก๊สฟอสฟีนและมีเธนขึ้นในห้องปฏิบัติการ ผสมกันด้วยอัตราผสมต่างๆ โดยไม่ให้สัมผัสอากาศ แล้วปล่อยขึ้นจากใต้น้ำเพื่อเลียนแบบ จากหนังสือ General Chemistry แก๊สฟอสฟีนอาจจะเตรียมจาก การต้มฟอสฟอรัสขาวในน้ำที่เป็นด่าง หรือการละลายน้ำของ calcium phosphide (Ca3P2) จะเกิดแก๊สฟอสฟีนขึ้น จะต้องให้แก๊สแทนที่น้ำ หนังสือบางเล่มอธิบายว่า แก๊สที่เกิดขึ้นจะมี แก๊สไดฟอสฟีน (H4P2)ผสมอยู่ด้วยเล็กน้อยเสมอและแก๊สนี้เป็นตัวที่ทำให้เริ่มติดไฟ

อีกประการหนึ่งอาจทำการสำรวจแบบธรณีวิทยาโครงสร้างดินและหินใต้แม่น้ำโขงด้วยระบบโซนาร์ (Sonar) เลือกใช้ความยาวคลื่นที่เหมาะสม อย่างน้อยจะทำให้ทราบสภาพว่ามีบ่อหรือแอ่งเป็นที่หมักเแก๊ส

ผู้เขียน รศ.ดร. วิจิตร เส็งหะพันธุ์ ฟิสิกส์ราชมงคล

มหัศจรรย์ระดับโลก การเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคจากงานวิจัยของ นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2536-2541 พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น กับการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของอากาศระดับชิดผิวโลก

จากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์,โลก, ดวงจันทร์ และพลังงานรังสีจากดวงอาทิตย์ และเมื่อดวงจันทร์,ดวงอาทิตย์ อยู่ในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดส่วนประกอบอากาศใหม่ที่ผิวโลกที่สามารถทำปฏิกิริยากับฟองแก๊สธรรมชาติที่มีขนาด และส่วนประกอบที่เหมาะสมผุดขึ้นแทบทุกวัน ลุกติดเป็นดวงไฟ ณ ตำแหน่งและเวลาเดิม ขณะโลกขยับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์

โดยจะพบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคม,เมษายน,พฤษภาคม รวม 1-3 วัน และฤดูหนาว กันยายน,ตุลาคม รวม 2-5 วันโดยวันที่พบจำนวนลูกไฟมากที่สุดคือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือ แรม 1 ค่ำเดือน 11 สิ่งที่ทำให้หนองคายแตกต่างจากทุกแห่งในโลก

ที่มา - เว็บ rmutphysics.com



บั้งไฟพญานาคทางด้านวิทยาศาสตร์ (ต่อ)


เรื่องการเกิด”บั้งไฟพญานาค” ในทางวิยาศาสตร์ นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลหนองคาย ได้เฝ้าติดตามศึกษาปรากฏการณ์การเกิดบั้งไฟพญานาคเป็นเวลา 4 ปี ได้ทดลองวิเคราห์การเกิดปรากฏการณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์และได้อธิบายไว้อย่างละเอียด * สรุปคร่าวๆ ดังนี้ (พนิดา 2538 : 78-79)

“ บั้งไฟพญานาคน่าจะเป็นสสารและจะต้องมีมวล เพราะแหวกน้ำขึ้นมาได้ น่าจะเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จุดติดไฟได้เองและจะต้องเบากว่าอากาศ โดยเงื่อนไขของสถานที่เกิดปรากฏการณ์จะต้องเป็นที่ที่มีแม่น้ำลึกประมาณ 4.55-13.40 เมตร หรือมีหล่มดินใต้น้ำเป็นที่หมักก๊าซ

ก๊าซดังกล่าวเชื่อว่ามีกำเนิดมาจากอินทรีย์วัตถุ เช่นมูลสัตว์ ซากพืช ซากสัตว์ มีสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว หมักแล้วเกิด Bacteria Ferment ได้ก๊าซมากพอที่จะพลิกหรือเผยอหล่มโคลนใต้น้ำนั้นได้ โดยมีก๊าซที่ได้เป็นลูกๆ นั้น แต่ละลูกมีขนาด 200 ซีซี ซึ่งพอลอยจากระดับความลึก 20 ฟุต มาถึงระดับผิวน้ำขนาด 100-200 ซีซี จะขยายตัวเป็นฟองก๊าซขนาด 310 ซีซี

และเมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมาถึงระดับ 1-4 เมตร ก๊าซนั้นจะเหลือขนาดแค่ 100-200 ซีซี ซึ่งโตไม่เกินผลส้มก็จะเริ่มติดไฟได้ด้วยตนเอง คุณสมบัติดังกล่าวมีครบถ้วนในก๊าซร้อนที่มี มีเทนและไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญ”

ที่มา - เว็บ thaifolk.com



พญานาค

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล ลี้ปิยะชาติ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์


สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง เมื่อมีการกล่าวขานถึงเรื่องของบั้งไฟพญานาคว่าจริงหรือเท็จ เป็นเรื่องของธรรมชาติหรือคนทำขึ้น วันนี้รายการของเราก็จะนำเรื่องของพญานาคซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อของชาวอีสานแต่โบราณมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

คำว่า "พญานาค" เขียนได้สองแบบด้วยกันคือ "พญานาค" หรือ "พระยานาค" สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในความเชื่อของคนไทยมานานแสนนาน ไม่เฉพาะคนในภาคอีสานแต่ยังรวมไปถึงภาคต่างๆของประเทศไทยด้วย เวลาที่ท่านผู้ฟังไปเที่ยว หรือไปไหว้พระ ทำบุญที่วัดต่างๆ คงเคยเห็นบันไดที่เป็นรูปพญานาคกันมาบ้างใช่ไหมคะ

เรือที่ใช้ในขบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคก็มี "เรืออนันตนาคราช" ที่มีหัวเรือเป็นรูปพญานาคเด่นเป็นสง่าอยู่ ทับหลังของปราสาทหินพิมายที่มีชื่อเสียง แกะสลักหินเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์คือ พระยาอนันตนาคราชขดตัวให้พระนารายณ์นอน จะเห็นว่าเราพบเห็นรูปปูนปั้น หรือรูปสลักของพญานาคอยู่ทั่วไปในประเทศไทยเรา

สำหรับภาคอีสาน พญานาคมีความสำคัญมากและเป็นความเชื่อที่มีบทบาทสำคัญปรากฏอยู่ในธรรมเนียมประเพณีต่างๆของภาคอีสานมาช้านาน เช่นในงานบุญบั้งไฟ มักจะนิยมแต่งบั้งไฟเป็นรูปพญานาค ในการหล่อเทียนพรรษาซึ่งเป็นประเพณีของเทศกาลเข้าพรรษาก็ทำต้นเทียนเป็นลายพญานาค รวมถึงเทศกาลออกพรรษาที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคก็เช่นกัน ล้วนแต่เป็นเครื่องพิสูจน์ความสำคัญของพญานาคที่มีอยู่ในความเชื่อของผู้คนชาวอีสาน

ใน ตำนานอุรังคธาตุ ได้กล่าวถึงเรื่องการทะเลาะกันของพระยานาค จนนำไปสู่การเกิดของแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือและอีสาน เรื่องมีดังนี้ค่ะ

ในสมัยก่อนมีพระยานาค 2 ตนชื่อว่า พระยาสุวรรณนาค และ พระยาสุทโธนาค พระยานาคสองตนนี้ทะเลาะกันจนมนุษย์และสัตว์เดือดร้อน พระยาแถน ซึ่งก็เป็นเทพเจ้าในความเชื่อของชาวอีสานเช่นกัน ได้บอกให้พระยานาคทั้งสองขุดแม่น้ำแข่งกัน ใครขุดออกทะเลก่อนถือว่าชนะ และจะส่งปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาให้

พระยาสุทโธนาคใจร้อน รีบขุดโดยเร็ว แต่ขุดอ้อมไปอ้อมมา จนมาถึงตอนใต้ของจังหวัดหนองคายเกิดหลงทิศ ขุดย้อนขึ้นไปทางเหนืออีกแล้วรีบวกกลับเมื่อรู้ว่าผิดทาง จึงทำให้เกิดบึงขนาดใหญ่เรียกว่า “บึงโขงหลง” เป็นชื่อ "อำเภอบึงโขงหลง" จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน

พระยาสุทโธนาคเกรงจะไม่ทันจึงเรียกเพื่อนมาช่วยอีกสองตนคือ พระยาชีวายนาค และ พระยาธนมูลนาค แม่น้ำที่พระยาชีวายนาคขุดกลายเป็น "แม่น้ำชี" ส่วนแม่น้ำที่พระยาธนมูลนาคขุดกลายเป็นแม่น้ำมูล มาพบกันที่จังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันไปพบกับพระยาสุทโธนาคที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดหนองคาย ผ่านประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามลงสู่ทะเล

เมื่อพระยาสุทโธนาคขุดถึงก่อนเช่นนี้ พระยาแถนจึงส่งปลาบึกมาอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้นตามสัญญา ส่วนพระยาพระยาชีวายนาคถือเป็นผู้ขุด แม่น้ำชี และพระยาธนมูลนาคกลายเป็นผู้ขุด แม่น้ำมูล ซึ่งแม่น้ำทั้งสามสายนี้ถือเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน

ส่วนพระยาสุวรรณนาค คู่วิวาทของพระยาสุทโธนาคนั้นเป็นผู้ที่สุขุม ค่อยๆขุดเป็นแนวตรงลงมากลายเป็นแม่น้ำน่าน จากตำนานนี้ทำให้มีความเชื่อว่าแม่น้ำทั้งสองสายนี้ไม่ถูกกัน เนื่องจากผู้ขุดทะเลาะกัน มี่ความเชื่อว่าหากน้ำแม่น้ำน่านผสมกับแม่น้ำโขงจะทำให้แก้วแตกได้

ในตำนานนิทานพื้นบ้านของอีสานเรื่อง ผาแดงนางไอ่ ที่รู้จักกันทั่วไป ก็ยังมีพระยานาคมาเกี่ยวข้องด้วย จนดูเหมือนเป็นธรรมเนียมนิยม ที่จะต้องกล่าวถึงพระยานาคในแง่ของผู้ที่มีฤทธิ์เดช

ชาวหนองคายและชาวเวียงจันทน์ยังมีความเชื่อว่า พระยานาคเป็นผู้สร้างเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำ ซึ่งปัจจุบันเป็นบางส่วนในจังหวัดหนองคาย
ท่านผู้ฟังคงจะพอเข้าใจได้ว่าพญานาคเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างมากในความเชื่อของชาวอีสานมาเป็นเวลานาน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวอีสานจะคิดว่าลูกไฟที่ลอยขึ้นมาจากน้ำนั้นเป็น "บั้งไฟพญานาค" ผู้มีความเกี่ยวข้องอยู่กับแม่น้ำ และโดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่เป็นหัวใจสำคัญของชาวอีสานมาช้านาน

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 13 สกลนคร, จังหวัด – สุริวงศ์ : วรรณกรรมนิทาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรม ธาคารไทยพาณิชย์. 2542.

ที่มา - เว็บ uniserv.buu.ac.th (มหาวิทยาลัยบูรพา)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2033
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved