ถ้าพบข้อผิดพลาดในเว็บไซด์ จะแนะนำและติชม หรือสอบถาม ติดต่อที่ WEBMASTER
 
VISITORS


     







Not logged in [Login ]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites  
[*] posted on 28/3/08 at 14:55 Reply With Quote

เพราะเหตุใด..จึงมี "บั้งไฟพญานาค" ในวันออกพรรษาทุกปี (ตอนที่ 14)


(Update 26 ก.ย. 51)

« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »


ตอนที่ 14

รายการ "สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต" ตอนที่ 2




สารคดีแม่น้ำโขง มหานทีแห่งชีวิต

ตอนที่ 2 คนกับช้าง

ออกอากาศเมื่อ : 2008-05-12



ตอนหลวงปู่มั่นกับพญานาค

พบพญานาคที่ถ้ำเชียงดาว


".........ในตอนที่แล้ว หลวงปู่แหวน ได้เล่าเรื่องพญานาคที่ ถ้ำเชียงดาว แล้วปรารถถึง หลวงปู่มั่น อาจารย์ของท่านด้วย จากข้อความในหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเรียบเรียงโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เล่าตอนนี้ไว้ว่า

........พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระเล่าว่า สมัยเมื่อครั้งท่านไปพักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำที่ว่านี้ไม่ใช่ถ้ำเชียงดาวซึ่งยาวเข้าไปในกลางเขาที่ประชาชนเข้าไปเที่ยวกัน หากเป็นอีกถ้ำหนึ่งซึ่งอยู่สูงขึ้นไป ประชาชนขึ้นไปไม่ถึง เพราะทำเลซ่อนเร้นลับตา ถ้ำที่ท่านขึ้นไปบำเพ็ญเพียรนี้แหละ มี พญานาค ตนหนึ่งเฝ้ารักษาถ้ำอยู่มาเป็นเวลานาน

พญานาคตนนี้ไม่ได้ปรากฏร่างออกมาให้พระอาจารย์มั่นเห็นด้วยสายตาธรรมดา หากแต่พระอาจารย์มั่นสามารถมองเห็นได้ด้วยนัยน์ตาทิพย์ว่า พญานาคตนนี้มีกายทิพย์หรือปรมาณู มีวังอันสวยงามอยู่ลึกเข้าไปในถ้ำอันเร้นลับ ยากที่ปุถุชนธรรมดาจะล่วงรู้เห็นได้

พญานาคตนนี้คอยโผล่หัวจ้องมองจับผิดท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา คือจ้องมองอยู่ในถ้ำลึกเวียงวังของตน ไม่ได้โผล่เข้ามาใกล้ที่พักของพระอาจารย์มั่นแต่อย่างใด แต่พญานาคมีสายตาเป็นทิพย์มองไกล ๆ แค่ไหนก็ย่อมเห็นได้ แต่พญานาคตนนี้ก็ยอมรับฟังเทศนาธรรมจากพระอาจารย์มั่นในที่สุดจนได้


พระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นศิษย์สายหลวงปู่มั่น เช่น (แถวบน) หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว
หลวงปู่จูม หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงตามหาบัว เป็นต้น




พญานาคฟังธรรม

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านมีความเกี่ยวข้องกับพวก “พญานาค” อยู่อย่างลึกลับ ในสมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวแสวงวิเวกอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรในภาคเหนือและภาคอีสาน ตลอดจนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ขณะที่ท่านพักบำเพ็ญเป็นสุขวิหารธรรม อยู่สบายในป่าในเขาที่สงัดปราศจากผู้คนทั้งกลางวันกลางคืน

พระอาจารย์มั่นมีการติดต่อกับพวกกายทิพย์ เช่น เทวบุตร เทวธิดา อินทร์ พรหม พญานาค ครุฑ ยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ วิทยาธร และภูตผีปิศาจที่มาจากที่ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ท่านถือเป็นเรื่องธรรมดา เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ติดต่อกับมนุษย์ชาติต่าง ๆ ในโลกนี้เพื่อผลประโยชน์ ซึ่งกันและกัน

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เล่าว่า ขณะที่ท่านกำลังแสดงธรรมอบรมพระเณรตอนกลางคืน ที่ หมู่บ้านสามผง นครพนม ได้มีพญานาคอยู่แถบลำแม่น้ำสงครามได้แอบมาฟังเทศน์ท่านแทบทุกคืน โดยเฉพาะวันพระ พญานาคมาทุกคืน ถ้าไม่มาตอนท่านอบรมพระเณร พญานาคก็มาตอนดึกขณะที่ท่านเข้านั่งสมาธิภาวนา


ส่วนเทวดาทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างมีมาห่าง ๆ ไม่เหมือนอยู่ที่อุดรฯ หนองคาย ยิ่งวันเข้าพรรษาและวันกลางพรรษา และวันปวารณาออกพรรษาด้วยแล้ว ไม่ว่าท่านพระอาจารย์มั่นจะพักจำพรรษาอยู่ที่ไหน แม้แต่ในตัวเมือง ก็ยังมีพวกเทวดาทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง ชั้นใดชั้นหนึ่ง และที่ใดที่หนึ่งมาฟังธรรมเทศนาท่านมิได้ขาด เช่นที่ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าเชิงเขาใหญ่ลูกหนึ่งฝั่งไทย ทางทิศตะวันตก นครหลวงพระบาง ภูเขาลูกนี้อยู่ชายฝั่งแม่น้ำโขง พระอาจารย์มั่นเล่าว่า

ที่ใต้เชิงเขาลูกนั้น มีเมืองพญานาคตั้งอยู่ ใหญ่โตมาก หัวหน้าพญานาคพาบริวารมาฟังธรรมของท่านเสมอ และมักมากันมากมายในบางครั้ง พวกพญานาคไม่ค่อยมีปัญหาซักถามมากเหมือนพวกเทวดา พวกเทวดาทั้งเบื้องต้นและเบื้องล่างมักมีปัญหามากพอ ๆ กัน หมายถึงปัญหาข้อสงสัยทางธรรมะ

ส่วนความเลื่อมใสในธรรมะนั้นพวกพญานาคและเทวดามีความเลื่อมใสพอ ๆ กัน พระอาจารย์มั่นพักบำเพ็ญเพียรอยู่เชิงเขาลูกนั้นนานพอสมควร พวกพญานาคมาเยี่ยมคารวะฟังธรรมกับท่านแทบทุกคืน พวกพญานาคมาเยี่ยมคารวะท่านไม่ดึกนัก ท่านว่าอาจเป็นเพราะที่พักของท่านสงัดเงียบ ห่างไกลจากหมู่บ้านก็ได้ พวกพญานาคจึงมาเยี่ยมในราว 4-5 ทุ่ม

ส่วนสถานที่อื่น ๆ พวกพญานาคมาดึกกว่านี้ก็มี เวลาขนาดนี้ก็มี พวกพญานาคตามสถานที่ต่าง ๆ มีความเคารพเลื่อมใสท่านมาก พวกเขาจัดให้บริวารพญานาคมารักษาคุ้มครองป้องกันภัยให้ท่านทั้งกลางวันกลางคืน โดยผลัดเปลี่ยนวาระกันมิได้ขาด ท่านไปอยู่สถานที่ใดพวกพญานาคในสถานที่นั้นมักอาราธนานิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่นั่นนาน ๆ เพื่อโปรดพวกเขา

เมื่อครั้งพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พักจำพรรษาอยู่ บ้านน้ำเมา อำเภอแม่ปั๋ง เชียงใหม่ พระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านต้อนรับแขกจำพวกกายทิพย์บนสวรรค์มี ท้าวสักกเทวราช เป็นหัวหน้ามากเป็นพิเศษ

แม้หน้าแล้งท่านจะหลีกเลี่ยงออกไปเที่ยววิเวกองค์เดียว อยู่ใน ถ้ำดอกคำ ท้าวสักกเทวราชก็พาพวกเทวดาติดตามไปเยี่ยมท่าน ซึ่งพวกเทวดามาแต่ละครั้งนี้ มากันเป็นหมื่นเป็นแสนและมาบ่อยที่สุด (ถ้ำดอกคำ ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.พร้าว จ.เชียงใหม่)

ถ้าพวกที่ไม่เคยมา ท้าวสักกเทวราชต้องเตือนให้พวกเขาเข้าใจวิธีฟังธรรม ก่อนที่พระอาจารย์มั่นจะแสดงให้ฟัง โดยมากพระอาจารย์มั่นท่านแสดง “เมตตาอัปปมัญญาพรหมวิหาร” ให้พวกเทวดาฟัง เพราะพวกเทวดาชอบฟังธรรมนี้มากเป็นพิเศษ

พวกเทวดาชอบสถานที่อยู่ลึก ๆ เงียบสงัดห่างไกลจากมนุษย์เพราะมนุษย์ มีกลิ่นเหม็นรุนแรงเหมือนซากศพ เนื่องจากมนุษย์กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์หลายชนิดมาก ในท้องในกระเพาะมนุษย์จึงเต็มไปด้วยซากศพสัตว์ชนิดต่าง ๆ ส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกมาตามรูขุมขน แต่มนุษย์ด้วยกันเคยชินกลิ่นของกันและกัน เลยไม่รู้สึกว่าเหม็นเหมือนกลิ่นศพ

ซึ่งผิดกับพวกเทวดามีจมูกพิเศษสัมผัสได้ว่องไวเป็นสภาวะทิพย์ จึงสามารถได้กลิ่นเหม็นเน่าซากศพ โชยออกมาจากร่างมนุษย์ได้เต็มที่ ทำให้สะอิดสะเอียนแทบอาเจียนรากทนไม่ไหว ไม่ต่างอะไรกับคนเราทนไม่ได้กับกลิ่นซากศพเน่า ๆ ในโลงศพฉะนั้นแหละ

พวกเทวดาทุกคนทุกภูมิเคารพท่านพระอาจารย์มั่น และเคารพสถานที่บำเพ็ญเพียรของท่านมาก แม้แต่ทางเดินจงกรมที่ญาติโยมชาวบ้านเอาทรายมาเกลี่ยไว้ สำหรับให้พระอาจารย์มั่นเดินได้สะดวก พวกเทวดาก็ไม่กล้าผ่านทางจงกรม ต้องเดินอ้อมไปทางหัวจงกรมทุกครั้งที่มาและไป

พวก “พญานาค” ก็เช่นเดียวกัน เวลาเข้ามาเยี่ยมคารวะฟังธรรมกับท่าน พวกพญานาคไม่กล้าเดินเข้าทางจงกรมเลย ต้องเดินอ้อมไปทางอื่น บางครั้งพญานาคใช้ให้บริวารมากราบนิมนต์พระอาจารย์มั่นในกิจบางอย่าง ให้ไปโปรดพวกพญานาค คล้ายกับมนุษย์เรามานิมนต์พระไปในงานไม่มีผิดเลย.



ประวัติถ้ำเชียงดาว


"........ตามตำนานของดอยหลวงหรือ "ดอยอ่างสลุง" (อ่านว่า "สรง") กล่าวไว้ว่าในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับที่ดอยหลวงและทรงสรงน้ำในอ่างเชิงเขานี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ "ดอยอ่างสลุง" ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ดอยหลวงเชียงดาว"

........."ถ้ำเชียงดาว" ยังมีนิยายปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งอดีตสมัยเมืองพะเยารุ่งเรืองอำนาจ เจ้าผู้ครองนครพระนามว่า "เจ้าหลวงคำแดง" พระองค์โปรดการเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ ครั้งหนึ่งได้เสด็จไล่ตามจับกวางงามตัวหนึ่ง

..........พระองค์พยายามควบม้าไล่ตามอย่างกระชั้นชิดแต่ก็หาทันไม่ กวางได้วิ่งหนีไปจนถึงเชิงดอยอ่างสะลุงและหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในถ้ำเชิงเขา เจ้าหลวงพยายามจะตามจับให้ได้ ลงจากหลังม้าแล้วทรงวิ่งตามกวางเข้าไปในถ้ำ ส่วนไพรพลสุดที่จะทัดทานได้และวิ่งตามไม่ทัน

..........เจ้าหลวงคำแดงเข้าไปเที่ยวหากวางในถ้ำแต่ไม่พบ พบแต่สาวงามผู้หนึ่งได้สนทนากันจนเป็นที่พอพระทัย ได้ทรงทราบความจากสาวงามชื่อ "อินทร์เหลา" ว่านางถูกสาปให้มาอยู่ในถ้ำนี้ ถ้าออกนอกถ้ำจะกลายร่างเป็นกวางทันที เจ้าหลวงได้ทรงทราบมีความสงสารและเกิดความเสน่ห์าได้อยู่กินกับนางกวางในถ้ำนั้นตลอดมา โดยไม่ยอมกลับไปบ้านเมือง แม้พวกข้าราชบริพารจะมาเชิญให้กลับก็ไม่ยอม พระองค์จะพานางไปอยู่ในเมืองก็ไม่ได้ เพราะนางจะกลายร่างเป็นกวาง ฉะนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยอยู่กินกับนางจนตลอดชีวิต



(ภาพจาก google บนอ่างสลุง สมัย พระแม่เจ้าจามเทวี มีการนำน้ำจากที่นี้ไป
เพื่อกระทำ "มูรธาภิเษก" ตามโบราณราชประเพณี ก่อนจะขึ้นครองเมืองหริภุญชัย)

ชาวบ้านยังคงมีเชื่อว่าวิญญาณของ "เจ้าหลวงคำแดง" กับ "นางอินทร์เหลา" ยังคงสิงสถิตอยู่ในถ้ำเชียงดาวมาจนทุกวันนี้ ส่วนภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปน้อยใหญ่รวมกันหลายสิบองค์ตั้งเรียงรายอยู่บนชะง่อนหินและโพรงหิน ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปศิลปะพม่าอยู่บนโขดหิน มีพระพุทธรูปทรงเครื่องหลายองค์สวยงามเป็นของโบราณ พระพุทธรูปเหล่านี้พระภิกษุเงี้ยวหรือไทยใหญ่ชื่อ "กันตุ๊ระ" ได้อัญเชิญมาจากรัฐฉาน ตอนเหนือของพม่าเมื่อปี พ.ศ.2456

ที่บริเวณห้องโถงขนาดใหญ่ในถ้ำจะมีเพดานเป็นรูปเรียวสูงขึ้นไปครอบคลุมอยู่เบื้องบน ริมผนังตอนบนบางตอนมีหินย้อยคล้ายเป็นผ้าม่านแพรระบายเรียงราย ห้องนี้นับเป็นห้องสุดท้ายที่มีไฟฟ้ามาถึง บนแท่นหินมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์องค์ใหญ่ประดิษฐาน ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง เป็นของที่มีมาแต่โบราณร่วม 100 ปีมาแล้ว

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
ที่มา - www.chiangmainews.co.th


((( โปรดติดตามตอน หลวงปู่คำคะนิงบุกเมืองพญานาค )))


« | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
| 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | 32 | »



webmaster
Super Administrator
*********
Posts: 2041
Registered: 8/1/08
Member Is Offline
View User's Profile View All Posts By User U2U Member

Go To Top
 

"เว็บตามรอยพระพุทธบาท" ได้รับลิขสิทธิ์จาก พระอาจาย์ชัยวัฒน์ อชิโต เพื่อเผยแพร่รูปภาพและข้อมูล
จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท" จึงขอสงวนลิขสิทธิ์ตาม
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
ห้ามคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปเผยแพร่ หรือนำไปโพสในเว็บใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน

เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดีกับโปรแกรม Internet Explorer, Window Media V.9, Flash Player ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 768 pixels ความเร็วอินเตอร์เน็ต 1 Mbps. ขึ้นไป

ถ้าพบข้อผิดพลาดใดๆ หากจะแนะนำ หรือติชม และสอบถาม ติดต่อ "ทีมงานเว็บตามรอยพระพุทธบาท"
เริ่มเปิดเว็บไซด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

Copyright @ 2008 tamroiphrabuddhabat.com All rights reserved